กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการป้องกันอันตรายจากอุบัติภัยต่างๆ ในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง โดยเข้มงวดกวดขันการพิจารณาออกใบอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตให้ผลิต สั่ง นำเข้า และจำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิง พร้อมตรวจสอบจุดเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย รวมถึงจัดระเบียบการจราจร บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ตลอดจนจัดชุดเคลื่อนที่เร็วให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและระงับเหตุเพลิงไหม้ เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ และร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของเทศกาลลอยกระทงให้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการป้องกันอันตราย และให้การช่วยเหลือประชาชนจากอุบัติภัยต่างๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ตามแนวทางสำคัญ ดังนี้ มาตรการป้องกันอุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้เพลิง เข้มงวดกวดขันการพิจารณาออกใบอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตให้ผลิต สั่ง นำเข้า และจำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิง พร้อมตรวจสอบสถานที่จัดเก็บ ผลิต และจำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิง ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากพลุ และดอกไม้เพลิง ตลอดจนจัดพื้นที่ในการจุดพลุ ดอกไม้เพลิง ให้มีความปลอดภัย มาตรการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ ตรวจสอบเส้นทางสัญจรทางน้ำ โป๊ะ ท่าเทียบเรือ เรือโดยสาร และจุดเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย รวมถึงสนธิกำลังจัดชุดกู้ภัยทางน้ำ และจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งานประจำจุดเสี่ยง โดยเฉพาะสถานที่จัดงานลอยกระทงและท่าเทียบเรือโดยสาร เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำได้อย่างทันท่วงที มาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดตั้งจุดตรวจ เพื่อจัดระเบียบการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน โดยบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด พร้อมคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะการขับรถเร็วและเมาแล้วขับ มาตรการป้องกันอัคคีภัย จัดชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง รถดับเพลิง และอุปกรณ์กู้ภัยประจำสถานที่จัดงานลอยกระทงและบริเวณที่มีการจุดพลุ และดอกไม้เพลิง เพื่อให้สามารถปฏิบัติการระงับเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็วมาตรการป้องกันอุบัติภัยอื่นๆ โดยกำหนดจุดในการปล่อยโคมลอย ลูกโป่งสวรรค์ การยิงลำแสงเลเซอร์ และการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่มีความปลอดภัย อยู่ห่างจากบริเวณท่าอากาศยาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการบินและอันตรายต่ออากาศยาน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับอากาศยานและบทลงโทษทางกฎหมาย นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดจัดสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของสถานที่จัดงานลอยกระทง รวมถึงเตรียมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อดูแลรักษาและส่งต่อผู้บาดเจ็บได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ตลอดจนเข้มงวดกวดขันไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสถานที่จัดงานเทศกาลวันลอยกระทง เพื่อป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือและดำเนินมาตรการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงให้สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาการจัดงานและประเพณีของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ รวมถึงร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม ของเทศกาลลอยกระทงให้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th