กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ธอมสัน พับบลิค รีเลชั่นส์
มาตรการแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง
มาตรการต่างๆ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติในมาตรการต่างๆ ในการประหยัดไฟฟ้าและน้ำมัน ดังต่อไปนี้
- การเร่งดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน เห็นชอบให้เร่งดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยให้ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) เร่งดำเนินการส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมโดยเร็วที่สุด และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เร่งดำเนินเรื่องการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อลดต้นทุนการผลิต และและจัดหาให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
- การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สำหรับด้านการรณรงค์ลดการใช้น้ำมันนั้น ให้ สพช. เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน กระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดปริมาณการใช้น้ำมันที่ไม่จำเป็นลง เช่น ใช้บริการขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น บำรุงรักษารถยนต์ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ ตรวจเช็คลมยาง และไส้กรองอากาศ เป็นต้นสำหรับการรณรงค์ลดการใช้ไฟฟ้า ให้ สพช. เร่งรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปทราบว่าการเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศชึ้น 1 องศาเซสเซียส จะช่วยลดค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศลงร้อยละ 10 ซึ่งไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านทั่วไปประมาณร้อยละ 70 ใช้ไปกับเครื่องปรับอากาศ
- การรณรงค์ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย รณรงค์ให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องดับเครื่องยนต์ทุกครั้งที่จอดรถ ตรวจวัดควันดำและควันขาวอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ห้ามจอดในพื้นที่ที่ห้ามจอด และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด รถยนต์ห้ามมีเสียงดังเกินมาตรฐาน หากฝ่าฝืนต้องถูกทำโทษตามกฎหมายทันที
- การกำหนดความเร็วรถยนต์ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องความเร็วรถยนต์ คือ
1) บนทางธรรมดา ความเร็วสูงสุดที่ 90 กม./ชม.
2) บนทางด่วน ความเร็วสูงสุดที่ 110 กม./ชม.
3) บนมอเตอร์เวย์ ความเร็วสูงสุดที่ 120 กม./ชม.
และให้ สพช. รณรงค์ให้ประชาชนรับทราบว่าการลดความเร็วจาก 120 กม./ชม. เป็น 90 กม./ชม. นั้น จะช่วยลดการใช้น้ำมันลงร้อยละ 25 คิดเป็นเงินประมาณ 7,100 ล้านบาท/ปี
- การขอความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ ขอความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ ในการปิดไฟป้ายโฆษณา ไฟส่องป้ายโฆษณา และไฟส่องตึก ภายหลังเวลา 24.00 น. คาดว่าสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ประมาณ 16 ล้านหน่วย/ปี หรือคิดเป็นเงินประมาณ 41 ล้านบาท/ปี
- การขอความร่วมมือให้ลดการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นลง เช่น การปิดไฟถนนที่ไม่มีรถคับคั่งตลอดสาย และเปิดไฟถนนเฉพาะบริเวณทางแยกหลัง 24.00 น. โดยให้พิจารณาถึงความปลอดภัยและความจำเป็นในแต่ละเส้นทาง ซึ่งอาจดำเนินการโดยลดจำนวนดวงโคมในทางแยกต่างๆ ทั่วประเทศลง 10 % มาตรการนี้ คาดว่าสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ประมาณ 68 ล้านหน่วย/ปี หรือคิดเป็นเงินประมาณ 170 ล้านบาท/ปี
- การขอความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า ให้กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะที่เป็นห้างขนาดใหญ่ เพื่อขอความร่วมมือในการปิดห้างในช่วง 22.00-10.00 น. คาดว่าสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ประมาณ 60.56 ล้านหน่วย/ปี หรือคิดเป็นเงินประมาณ 151.39 ล้านบาท/ปี
- การรณรงค์การลดการใช้พลังงานในส่วนราชการ สำหรับในส่วนราชการนั้น ให้หัวหน้าส่วนราชการเร่งดำเนินการลดการใช้พลังงานให้ได้อย่างน้อย 5 % โดยให้เลิกใส่สูท และตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะสามารถลดการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศลงได้ 10 % และให้รถราชการที่ใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 91 ได้ ต้องใช้ 91 โดยเคร่งครัด โดยให้กรมบัญชีกลาง ออกเป็นระเบียบบังคับ และให้มีการดูแลบำรุงรักษารถราชการให้อยู่ในสภาพที่ดีเสมอ นอกจากนั้นให้ดูแลเรื่องการใช้ลิฟท์ของสำนักงาน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์ กรณีขึ้นลงเพียงชั้นเดียว หรือจัดการให้ระบบลิฟท์สามารถหยุดได้ชั้นเว้นชั้น และควรหาวิธีการปรับปรุงให้ลิฟท์สามารถตัดไฟได้อัตโนมัติหากไม่มีการใช้งานเป็นเวลานาน
- การใช้มาตรการปิดถนน เร่งมาตรการปิดถนน เช่น ปิดถนนข้าวสาร และถนนบริเวณบางลำภู สาทร และเริ่มทยอย ปิดถนนที่สามารถปิดได้โดยไม่มีผลกระทบด้านจราจรมากนัก เช่น ถนนสีลม ในวันอาทิตย์ และเพิ่มเวลาปิดให้มากขึ้น โดยให้เชื่อมโยงกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณวงจันทร์ ตั้งทรงศักดิ์ / คุณภิรดี วงศ์ร่มฟ้า
ธอมสัน พับบลิค รีเลชั่นส์ โทร. 02260-0820 ต่อ 2193, 3186 E-mail: wongchan.tansongsak@jwt.com-- จบ--
-อน-