กทม.ประสานตำรวจจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ข่าวทั่วไป Thursday May 24, 2001 15:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กทม.
นายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. เปิดเผยว่า เนื่องจากการตั้งวางหาบเร่-แผงลอยในกรุงเทพมหานครบางแห่งยังขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น มีการตั้งวางสิ่งของรุกล้ำผิวการจราจร หรือตั้งวางของเกะกะกีดขวางทางเดินของประชาชน รวมทั้งสร้างความสกปรกในบริเวณที่ตั้งวาง อีกทั้งปัจจุบันในพื้นที่กทม.นอกจากมีจุดผ่อนผันแล้ว ยังมีจุดทบทวนซึ่งขาดกฎหมายรองรับอีกด้วย ดังนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยให้เป็นไปตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายสินค้าหรืออาหารบนถนนหรือที่สาธารณะ ยกเว้นบริเวณที่เจ้าพนักงานปกครองท้องถิ่น ประกาศเป็นจุดผ่อนผันด้วยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร ในการนี้ผู้ว่าฯกทม.มีแนวความคิดจะยกเลิกจุดทบทวน ให้เหลือจุดผ่อนผันเพียงอย่างเดียว ซึ่งจุดผ่อนผันนั้นอาจมีการประกาศเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 44 ที่ประชุมได้กำหนดให้คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยระดับเขต ซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการเขต สมาชิกสภากรุงเทพมหานครประจำเขต ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ ตัวแทนประชาชน หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ ฯลฯ พิจารณาจุดทบทวนในแต่ละเขตที่สามารถเป็นจุดผ่อนผันได้ แล้วเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธานกรรมการ และมีคณะกรรมการประสานงานของกรุงเทพมหานครและกองบัญชาการตำรวจนครบาล ประกอบด้วย ข้าราชการระดับสูงของกรุงเทพมหานครและกองบัญชาการตำรวจนครบาล รวมทั้งหากคณะกรรมการประสานงาน ฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก็จะได้ประกาศเป็นจุดผ่อนผันและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไป
ในส่วนการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบระหว่างกทม.กับตำรวจนั้น ที่ผ่านมาให้กทม.มีหน้าที่ดูแลบนบาทวิถี ส่วนบนผิวการจราจรเป็นหน้าที่ของตำรวจ อย่างไรก็ดีคณะกรรมการประสานงาน ฯ จะได้ร่วมกันกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่กันใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาปฏิบัติงานบางประการ เช่น กรณีการจอดรถบนบาทวิถี กทม.ไม่มีเครื่องล็อคล้อ หรือรถยกลากจูงรถ จึงไม่สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น ซึ่งในการประชุมร่วมกันครั้งนี้จะปรับปรุงการปฏิบัติงาน โดยให้ตำรวจดูแลกรณีการกระทำผิดดังกล่าวด้วย รวมทั้งกทม.จะเน้นให้แต่ละเขตประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานอย่างสูงสุด--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ