กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--กรมพัฒนาที่ดิน
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ ๒๒ ที่คาดว่าจะมีช่วงวิกฤตที่ขาดแคลนน้ำ โดยขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง งดการปลูกข้าวเพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน ให้หันมาปลูกพืชปุ๋ยสดซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วแทนในพื้นที่นาเพื่อช่วยปรับปรุงบำรุงดิน โดยดำเนินการตามรายชื่อเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการปลูกพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) กับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน ๘๖๒ ราย มีเนื้อที่ประมาณกว่า ๗,๐๐๐ ไร่
ซึ่งการปลูกปอเทืองเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ขายเป็นการสร้างรายได้ โดยให้เกษตรกรนำเมล็ดปอเทืองไปหว่านปลูกในพื้นที่นาข้าว เมื่อครบ ๔ เดือน สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อขายให้เกษตรกรรายอื่นๆ โดยตรง ช่วยสร้างรายได้เสริมทดแทนการทำนาและยังมีประโยชน์ทางอ้อมคือ ได้ปรับปรุงบำรุงดินของเกษตรกรไปในคราวเดียวกัน เนื่องจากที่รากปอเทืองมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่ ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศสร้างเป็นสารประกอบที่พืชนำไปใช้ในการเจริญเติบโต เมื่อไถกลบลงดินจะปลดปล่อยไนโตรเจนให้กับดิน ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน เมื่อดินดีเกษตรกรจึงลดการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นการลดต้นทุนการผลิตพืชในฤดูต่อๆ ไปได้ ดังเช่น ในพื้นที่ ๑ ไร่ เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ ๕ กก. เมื่อปลูกแล้วจะได้เมล็ดพันธุ์คืนมาประมาณ ๑๕๐ – ๒๐๐ กก. ถ้าขายจะได้เงินประมาณ 2,000 – 3,000 บาท แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือ การไถกลบเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน โดยการปลูกปอเทืองพื้นที่ ๑ ไร่ และไถกลบ จะทำให้ชาวนาได้น้ำหนักต้นปุ๋ยพืชสด 2,๕๐๐ กก. หรือได้ปุ๋ยแห้ง 5๐๐ กก. ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า การปลูกปอเทืองในพื้นที่ ๑ ไร่ แล้วไถกลบเมื่อต้นปอเทืองอายุ ๕๐ วัน เทียบเท่ากับการได้ปุ๋ย 3 ชนิด คือ ปุ๋ยยูเรีย (๔๖-๐-๐) จำนวน 30 กก. ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ ฟอสเฟต (0-46-0) จำนวน 2.4 กก. และโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) จำนวน 20 กก.คิดเป็นเงินค่าปุ๋ยรวม 940 บาท/ไร่ ทำให้เกษตรกรได้ปุ๋ยเคมีแบบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย
ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านที่สนใจการปลูกปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน สามารถติดต่อสอบถามขอรับการบริการได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่ง หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน หรือติดต่อสอบถามที่กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน โทร. ๐๒-๕๗๙-๘๕๑๕ หรือ โทร.สายด่วน ๑๗๖๐ ต่อ 2230