ทิศทางความต้องการผู้บริโภคยุคมิลเลนเนียม: มุ่งเป้าชีวิตเรียบง่าย เน้นความคุ้มค่าและคล่องตัว

ข่าวทั่วไป Friday November 20, 2015 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์ ปัจจุบันผู้คนเริ่มหันมาตระหนักถึงความต้องการและความจำเป็นที่แท้จริงของตนเอง หลายๆ คนอาจจบลงที่การดำเนินชีวิตต่อไปในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งเชอริล คอนเนลลี่ ผู้จัดการฝ่ายคาดการณ์ทิศทางความต้องการของผู้บริโภคระดับโลกของ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เผยว่าผู้คนในปัจจุบันพร้อมแล้วที่จะใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแต่คุ้มค่า หากเรามองย้อนไปในอดีต ก็จะพบว่าคนส่วนใหญ่วัดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามขนาด ตั้งแต่โทรทัศน์ไปจนถึงเสื้อผ้า หรือบ้านไปจนถึงรถยนต์ แต่ทุกวันนี้ ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ทุกคนต่างพากันซื้อหาผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย และมีความคล่องตัว เรียกได้ว่าจิ๋วแต่แจ๋ว ซึ่งเทรนด์ที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในภาคอุตสาหกรรมส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เห็นได้จากสิ่งต่างๆรอบตัว หลายคนคงเริ่มสงสัยว่าเทรนด์นี้มีที่มาที่ไปหรือจุดเปลี่ยนอย่างไรบ้าง ย่อส่วนเทคโนโลยี โลกได้รุดหน้าไปอย่างน่าทึ่ง โดยตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา คอมพิวเตอร์ได้ถูกย่อขนาดลงจากเครื่องขนาดเท่าบ้านจนเหลือขนาดเท่าฝ่ามือ ซึ่งทิศทางการพัฒนาในรูปแบบนี้ ทำให้เรามีแนวคิดว่าผลิตภัณฑ์ที่ล้ำยุคที่สุดจะต้องมีขนาดเล็กที่สุดด้วยเช่นกัน เมื่อ 20 ปีก่อน เราต้องแบกวิทยุเครื่องขนาดใหญ่ติดตัวไปด้วยเพื่อใช้ฟังเพลงนอกบ้านได้เพียง 2ชั่วโมง ปัจจุบันเราสามารถฟังเพลงได้ยาวนานถึง 20,000 ชั่วโมงด้วยอุปกรณ์ขนาดพกพาที่เบามาก ซึ่งแน่นอนว่าฟอร์ดก็ได้นำหลักการนี้ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญอย่างเครื่องยนต์ ดังจะเห็นได้จากเครื่องยนต์ อีโค่บูสท์ขนาด 1.0 ลิตร หนึ่งในเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในตลาดที่ผสมผสานกระบวนการอันล้ำสมัยสามขั้นตอนในการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ เพื่อมอบพละกำลังและสมรรถนะที่โดดเด่น ทั้งยังช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันลงอย่างดีเยี่ยม อรรถประโยชน์อย่างแท้จริง แม้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ จะมีขนาดเล็กลง แต่เรากลับต้องการอรรถประโยชน์ที่มากขึ้น อุปกรณ์ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานเพียงอย่างเดียวกำลังหมดไปจากตลาด ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือสามารถใช้เป็นกล้องถ่ายรูป เครื่องเล่นเพลง MP3เครื่องอัดเสียง สมุดโน้ต เครื่องเล่นเกมส์ และแม้แต่เว็บเบราเซอร์ ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าโดยไม่ได้เพียงแค่คำนึงถึงสิ่งที่สินค้าเหล่านั้นทำได้เท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงสิ่งที่สินค้านั้นไม่สามารถทำได้อีกด้วย บริษัทอย่าง Fitbit และ Appleได้พัฒนานาฬิกาข้อมือทั่วไปให้กลายเป็นศูนย์กลางของชีวิตที่ทำได้ทั้งบอกเวลา ติดตามกิจกรรมของร่างกายในแต่ละวัน รูปแบบการนอนหลับ อัตราการเต้นของหัวใจ และควบคุมการรับประทานอาหาร ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากความต้องการใช้ชีวิตที่คล่องตัว ไม่ต้องการพกพาอุปกรณ์สารพัดชิ้นติดตัวไปด้วยตลอดเวลา ชีวิตที่ถูกตัดต่อ ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ทำเลถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบัน จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น รูปแบบการเติบโตของตัวเมือง และสภาพตลาดแรงงานต่างมีผลทำให้พื้นที่ใจกลางเมืองความหนาแน่นมากขึ้น ดังนั้น คนเมืองสมัยใหม่จึงมองหาวิถีทางที่จะใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายในพื้นที่ขนาดเล็ก อพาร์ทเมนท์ขนาดเล็กที่สามารถออกแบบให้ใช้งานจากห้องเดียวเป็นหกห้องได้ ถือเป็นคำตอบหนึ่งสำหรับไลฟ์สไตล์แห่งอนาคตและเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในเมืองใหญ่อย่าง นิวยอร์ก กรุงเทพฯ โตเกียว และเซี่ยงไฮ้ โดยธุรกิจอย่าง IKEA เข้ามาช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตในพื้นที่จำกัด ด้วยการทำการตลาดกับผู้บริโภคที่ต้องการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแต่คุ้มค่า นิยามใหม่ของความหรูหรา ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคหวนคิดทบทวนถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง สังเกตได้ชัดจากเทรนด์การบริโภคเพื่อเป็นจุดสนใจและการซื้อสิ่งของเพื่อโอ้อวดฐานะได้หายไป กลายมาเป็นความหรูหราในรูปแบบใหม่แทน ที่คำนึงถึงรายละเอียดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ โดยสินค้าราคาแพงทั้งหลายต่างเริ่มหันมานำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เน้นความทันสมัย น่าสนใจ และเรียบง่าย แทนผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเดิม ปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังละความสนใจจากสินค้าที่เต็มไปด้วยโลโก้สีฉูดฉาด และหันมาสนใจสินค้าที่มีความประณีต แต่หรูหราแบบเรียบง่ายแทน จับจ่ายเท่าที่จำเป็น ภายใต้สังคมที่กระตุ้นให้เกิด "ความต้องการไม่สิ้นสุด" ผู้บริโภคกำลังเริ่มลดการซื้อหาสิ่งที่มากเกินไปและไม่จำเป็น ไปสู่ความเรียบง่ายแบบเดิมอีกครั้ง คงไม่มีตัวอย่างใดดีไปกว่าอาหารมื้อเย็นของเรา ในทศวรรษที่สามสิบ และสี่สิบ ผู้คนล้วนภูมิใจในความสามารถในการเข้าครัวทำอาหารของตนเอง แต่ต่อมาผู้คนต่างเริ่มหันไปบริโภคอาหารสำเร็จรูปและสินค้าลดราคาต่างๆ แต่ในปัจจุบัน ผู้บริโภคได้เริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับการเลือกซื้ออาหารมากขึ้นอีกครั้ง รวมถึงการคำนึงถึงแนวคิดลดขยะเหลือศูนย์จากการซื้ออาหารมากกว่าแต่ก่อน พร้อมตระหนักถึงการนำของที่เหลือกลับมาใช้อีกครั้ง และรู้จักคิดพิจารณาถึงประโยชน์ของสิ่งของที่ถูกทิ้งมากขึ้น แม้กระทั่งผู้ขายเองก็ตระหนักถึงแนวคิดนี้เช่นกัน องค์กรอย่าง endfoddwaste.org สามารถทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกหันมาโปรโมทขายผักผลไม้ที่มีรูปร่างไม่สวย แทนการนำไปทิ้ง ยุคนี้เป็นยุคทองของการเลือกซื้อสินค้าอย่างชาญฉลาดตามการใช้งานจริง ผู้ผลิตจะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างพอดี เพราะผู้บริโภคในยุคนี้ต่างทราบดีว่าพวกเขาต้องการอะไร ผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่าย น่าสนใจ และมีความเชื่อมโยงกับผู้คน สิ่งของ หรือกิจกรรมที่ผู้บริโภคชื่นชอบ จะประสบความสำเร็จได้ไม่ว่าในตลาดใดก็ตาม แต่แน่นอนว่าแนวคิดที่สุดเรียบง่ายนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้กลายเป็นความจริงได้ ทุกวันนี้แผนธุรกิจในทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย แต่มีน้อยคนนักที่จะทำได้จริง อย่างไรก็ตามมันก็เป็นเพียงไม่กี่สิ่งที่ช่วยสร้างการก้าวกระโดดสู่ความสำเร็จ และช่วยให้เราได้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ที่คุ้มค่าแต่เรียบง่าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ