กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
ไมโครซอฟท์ได้รับเลือกโดยการ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา ให้ครองตำแหน่งผู้นำด้านระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลเชิงปฏิบัติการเป็นปีที่สามติดต่อกัน ในรายงานวิจัย "Magic Quadrant for Operational Database Management Systems" ด้วยศักยภาพที่โดดเด่นเป็นอันดับหนึ่งในด้านวิสัยทัศน์และการใช้งานจริง
ปัจจุบัน ลูกค้าทุกรายต่างก็นำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบและวิธีการมากขึ้น ทั้งยังเก็บและประมวลผลข้อมูลหลายประเภทกว่าที่เคยในปริมาณที่มหาศาล จึงทำให้การบริหารจัดการข้อมูลและค้นหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กลายเป็นภารกิจที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน ด้วยเหตุนี้เอง ไมโครซอฟท์จึงมุ่งเน้นให้ความง่ายในการใช้งานเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของกระบวนการออกแบบโซลูชั่นเพื่อจัดการกับข้อมูล โดยที่ยังมีสมรรถนะเพียบพร้อมเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนของลูกค้าได้ ดังนั้น ลูกค้าจึงสามารถใช้โซลูชั่นของไมโครซอฟท์เพื่อค้นหา จัดเก็บ และบริหารข้อมูลดิบ ก่อนจะนำมาประมวลผลและวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้งานต่อไปในแบบเรียลไทม์
นอกจากนี้ การ์ทเนอร์ยังยกให้ไมโครซอฟท์เป็นผู้นำในด้านแพลตฟอร์มประมวลผลข้อมูลเพื่อเสริมศักยภาพทางธุรกิจ และระบบบริหารจัดการคลังข้อมูล ในรายงาน Magic Quadrant for Business Intelligence and Analytics Platforms และ Magic Quadrant for Data Warehouse Database Management Systems ซึ่งล้วนเป็นการตอกย้ำถึงวิสัยทัศน์และศักยภาพที่รอบด้านของไมโครซอฟท์ในตลาดโซลูชั่นคลังข้อมูล
สถานะผู้นำในรายงานวิจัย Magic Quadrant ทั้งสามฉบับดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันถึงศักยภาพของไมโครซอฟท์ในการพัฒนาและส่งมอบแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีที่พร้อมช่วยให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นในระดับองค์กร ทีม หรือบุคคล สามารถสร้างประสิทธิผลจากการทำงานได้มากขึ้นด้วยพลังของข้อมูล
นอกจากเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลเหล่านี้แล้ว การ์ทเนอร์ยังได้เลือกไมโครซอฟท์เป็นหนึ่งในผู้นำในภาคซอฟต์แวร์เพื่อการติดต่อสื่อสารในที่ทำงาน ในรายงานวิจัย 2015 Magic Quadrant for Social Software in the Workplace ซึ่งถือเป็นการครองตำแหน่งผู้นำถึงเจ็ดปีติดต่อกัน โดยในปี 2558 นี้ ไมโครซอฟท์ทำคะแนนได้สูงสุดทั้งในด้านวิสัยทัศน์และการใช้งานจริง
รายงานของการ์ทเนอร์ระบุว่าธุรกิจกลุ่มผู้นำในรายงาน Magic Quadrant ฉบับดังกล่าวจะต้องเป็นผู้พัฒนาและจัดหาซอฟต์แวร์เพื่อการติดต่อสื่อสารในที่ทำงานที่มีใช้กันอย่างแพร่หลาย เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว พร้อมยกระดับประสบการณ์ด้วยนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง มีส่วนแบ่งตลาดจำนวนมาก ทั้งยังประสบความสำเร็จในการส่งมอบชุดซอฟต์แวร์ที่ใช้งานง่าย แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และมีฟังก์ชันครบครัน
ทั้งนี้ แยมเมอร์เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นสำคัญที่มีบทบาทกำหนดทิศทางการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อการประสานงานของไมโครซอฟท์ โดยปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของชุดซอฟต์แวร์และบริการ Office 365 ซึ่งได้นำเอาคุณสมบัติเด่นของแยมเมอร์หลายประการมาปรับใช้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชัน Office 365 Groups, Office Graph หรือ Office 365 Reporting Dashboard การผนึกคุณสมบัติเหล่านี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Office 365 เปิดโอกาสให้แยมเมอร์ได้เข้าไปเสริมประสบการณ์การใช้งานซอฟต์แวร์ในตระกูล Officeที่ผู้ใช้หลายล้านคนทั่วโลกต่างคุ้นเคยและชื่นชอบ จึงยกระดับให้ลูกค้าสามารถทำงานประสานกันเป็นทีมได้ราบรื่นและคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยที่ทีมพัฒนาแยมเมอร์เองก็มีโอกาสต่อยอดนวัตกรรมต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน
ไมโครซอฟท์ได้เปิดตัวโซลูชั่นเครือข่ายสังคมระดับองค์กรเป็นครั้งแรกในปี 2551 โดยปัจจุบันมีบริษัทกว่า 500,000 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ขององค์กรระดับฟอร์จูน 500 ที่หันมาตระหนักถึงคุณค่าของแยมเมอร์ในด้านการสร้างความโปร่งใสและโอกาสในที่ทำงาน
บล็อก SQL Server: http://blogs.technet.com/b/dataplatforminsider/archive/2015/10/15/gartner-positions-microsoft-as-a-leader-in-the-magic-quadrant-for-operational-database-management-systems.aspx
บล็อก Office: https://blogs.office.com/2015/10/28/gartner-recognizes-microsoft-as-a-leader-in-the-2015-magic-quadrant-for-social-software-in-the-workplace-for-seven-years-running/
ผู้สนใจสามารถติดต่อการ์ทเนอร์เพื่ออ่านรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ ทั้งนี้ การ์ทเนอร์ไม่มีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนบริษัท ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใดที่ปรากฏในรายงานวิจัยของบริษัท และไม่แนะนำให้ผู้ใช้งานพิจารณาเพียงแค่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ทำคะแนนได้ดีในรายงานดังกล่าวเพียงอย่างเดียว รายงานวิจัยของการ์ทเนอร์มีเนื้อหาที่ผสมผสานความคิดเห็นจากทีมวิจัยจากการ์ทเนอร์เข้ามาด้วย จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงอย่างสมบูรณ์ การ์ทเนอร์ไม่สามารถให้การรับประกันในรูปแบบใดได้เกี่ยวกับความแม่นยำของรายงานวิจัยดังกล่าว รวมถึงในด้านความพร้อมของโซลูชั่นหรือความเหมาะสมสำหรับการใช้งานเฉพาะทาง