กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--สหมงคลฟิล์ม
ผ่านประสบการณ์การทำงานกับ ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าจากนี้ไปสามารถเทียบเคียงกับศิษย์เอกรุ่นพี่อย่าง สรพงษ์ ชาตรี ได้เลยทีเดียวสำหรับ ผู้พันเบิร์ด พันโทวันชนะ สวัสดี หลังจาก14ปีกับตำนานสมเด็จพระนรศวรมหาราชทั้ง 6 ภาค ล่าสุด "พันท้ายนรสิงห์" ผลงานภาพยนตร์พีเรียดอิงประวัติศาสตร์เรื่องที่ 2 ในชีวิตของผู้พันเบิร์ด ที่ล่าสุดได้โปรแกรมเข้าฉายส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 30 ธ.ค. นี้
หลังจากที่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงทุ่มเทชีวิต พลิกโฉมหน้า และปฏิวัติรูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของไทยมาตลอด 2 ทศวรรษ จากภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องที่ล้วนบอกเล่าเหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ตลอด 4 ศตวรรษ ในรัชสมัยที่มีกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง ถึงกระนั้นก็ตามผู้พันเบิร์ดมองว่าเรื่องราวรายละเอียด และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพยนตร์เรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" จะเป็นการเชิดชูในเรื่องของความซื่อสัตย์ ความถูกต้อง ยุติธรรม ผ่านตัวพันท้ายนรสิงห์ เป็นแกนสำคัญ โดยดำเนินเรื่องในช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยา ที่มีสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต่อเนื่องมายัง พระเพทราชา และมาถึง พระเจ้าเสือหรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8
"สำหรับผมแล้วผมมองว่าท่านมุ้ย ท่านเป็นครู แล้วก็เป็นผู้กำกับ ท่านมุ้ยไม่ได้เป็นคนที่ต้องการจะทำหนังพีเรียดย้อนยุค จริงๆ ท่านทำหนังได้ทุกแนว หนังทุกเรื่องของท่านที่ทำออกมาเป็นเหมือนลูกของท่านที่ท่านรักเท่ากัน แต่พอมาทำภาพยนตร์พีเรียดท่านก็สามารถทำได้ เพราะท่านเป็นคนที่ลึกในข้อมูลและศึกษามาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถ่ายทอดออกมามันผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้ามามาก แล้ว แล้วก็ค่อยๆ ถ่ายทอดออกมาให้เราได้ชม ผมคิดว่าการสร้างภาพยนตร์พีเรียดของท่านตั้งแต่สุริโยไท ตำนานสมเด็จพระนเรศวร จนกระทั่งมาจนถึงพันท้ายนรสิงห์ เป็นเหมือนการเล่าช่วงชีวิต การปกครองในสมัยอยุธยา ที่มีการพัฒนาการมาเรื่อยๆ ถ้าใครได้ชมภาพยนตร์ที่ท่านสร้างมา 3 เรื่องนี้นะครับ ก็จะรู้ว่ามันมีพัฒนาการในการถ่ายทำ แต่จะถูกแทรกด้วยความเป็นจริงของสังคม เพราะท่านศึกษา ท่านรู้ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงไปในเรื่องใดบ้าง การแต่งกาย หรือแม้กระทั่งธรรมชาติที่เปลี่ยน เพราะว่าเส้นเรื่องของอยุธยาก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะฉะนั้นท่านได้ถ่ายทอดมาในครั้งนี้ ถ้าเกิดได้ไปดูหนังท่านตั้งแต่สุริโยไท มาจนถึงพันท้ายนรสิงห์ เราก็พอจะเข้าใจอยุธยาเกือบทั้งหมดเลยว่ายุคสมัยนั้น400กว่าปีเป็นอย่างไร สำหรับภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ที่เราจะได้ชมกัน ก็คือเป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากความประสงค์ของท่านมุ้ย ที่ต้องการจะบอกถึงการเชิดชูเรื่องของความซื่อสัตย์ยุติธรรม เชิดชูความสุจริต ที่เป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่ท่านเคยบอกว่าไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านมาเท่าไหร่ก็ตาม คนก็คือคน มันก็ยังเหมือนเดิม ภาพยนตร์จะสะท้อนบริบทแวดล้อมของสังคมในสมัยนั้น แสดงว่าถ้าพันท้ายนรสิงห์มาฉายในปัจจุบัน แสดงว่าสังคมเรากำลังต้องการคุณธรรมข้อนี้ เพราะเรื่องนี้ต้องการสะท้อนในเรื่องของความซื่อสัตย์ยุติธรรม เรื่องของการเคารพกฎเคารพกติกาที่มีอยู่ของบ้านเมือง"