กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--มาสเตอร์โพลล์
ต่างชาติมองว่าไทยทำไปแล้วได้อะไร (Outcome) มากกว่า ทำอะไรไปแล้วบ้าง (output) หวังการเปลี่ยนแปลงเกิดในยุคนี้มากกว่ายุคการเมืองแบบดั้งเดิม
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน และ มาสเตอร์โพล (Master Poll) ได้ทำวิจัยเชิงคุณภาพค้นคว้าเอกสาร สัมภาษณ์เจาะลึกบุคคลกุญแจสำคัญ เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยและต่างชาติ องค์การระหว่างประเทศ และเหยื่อค้ามนุษย์ พบว่า ผู้ถูกศึกษาเห็นว่า รัฐบาลและ คสช. โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เอาจริงเอาจังแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มากกว่ารัฐบาลในอดีต แต่กังวลว่าจะไม่ต่อเนื่อง ไทยยังทำงานยึดตัวบุคคลมากกว่าระบบ โดยรัฐบาลประเทศคู่ค้าของไทยพิจารณาที่ประเทศไทยทำไปแล้วได้อะไร หรือมองที่ "ผลลัพธ์ (Outcome)" มากกว่าการมองที่ประเทศไทยทำอะไรไปแล้วบ้างหรือ "ผลผลิต (Output)" โดย ประเทศไทยทำอะไรหลายอย่างแต่ทำไปแล้วได้อะไรออกมาน้อย ไม่ยั่งยืน เช่น มีกฎหมายมากมาย ใช้งบประมาณกว่าพันล้านบาท มีกองกำลังเฉพาะกิจนับพันคน มีหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาค้ามนุษย์หลากหลาย มีเครื่องมืออุปกรณ์มาก แต่มีผลลัพธ์หรือ Outcome น้อย เช่น มีข้อมูลเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์น้อยและขาดความน่าเชื่อถือ ความขัดกันในมุมมองแก้ค้ามนุษย์ ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม (civil society) ทัศนคติของเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ต่อการปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆ ยังเป็นไปในทิศทางลบต่อหน่วยงานรัฐ และความตระหนักของสาธารณชนต่อการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาค้ามนุษย์ยังน้อยอยู่
นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่า ในกระบวนการ (Process) แก้ปัญหาค้ามนุษย์พบ 15 ปัญหาสำคัญคือ 1) ความขัดกันของหน่วยงานต่างๆ ที่ชี้ว่า ใครเป็นเหยื่อ ใครไม่เป็นเหยื่อ 2) การนิยามเหยื่อค้ามนุษย์ไม่มีกฎหมายรองรับ 3) กฎหมายมากมีหลายฉบับ ขาดองค์ประกอบรวมเป็นเอกภาพ 4) ข้อมูลการค้ามนุษย์อยู่กระจัดกระจาย 5) การแก้ปัญหาค้ามนุษย์กลายเป็นงานฝาก หน่วยงานต้นสังกัด 6) ใช้ระบบบริหารแบบออกคำสั่งระดับนโยบาย แต่เปลี่ยนคนทำงานระดับปฏิบัติ ไม่ต่อเนื่อง 7) หน่วยงานทำงานหลากหลาย เกิดหลายมาตรฐาน ล่าช้าช่วยเหลือเหยื่อ 8) ระบบรายงานทำแบบตัดต่อและรวบรวมจากหลายหน่วยงาน 9) การทำคดีต้องสืบสวนขยายผลเชิงลึกเพื่อตัดวงจรอาชญากรรมการค้ามนุษย์และดำเนินคดีตัวการใหญ่ 10) มีการอบรมเจ้าหน้าที่รัฐจากแต่ละหน่วยงานเป็น พนักงานเจ้าหน้าที่ แต่หลังอบรมแต่ละคนกลับไปทำงานหลักที่ต้นสังกัด 11) แต่ละหน่วยงานมีข้อจำกัดในการปฏิบัติการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ตั้งแต่ต้นทางปัญหาถึงปลายทางปัญหา 12) เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์เข้าหาหน่วยงานต่างๆ แบบไร้ทิศทางและสับสน เช่น เข้าหา พม. มท. รง. กต. ตร. มูลนิธิ NGO และสำนักข่าวต่างๆ 13) ขาดระบบที่ดีในการสร้าง "ความวางใจ" ของต่างประเทศและสาธารณชนต่อการคุ้มครองพยาน คุ้มครองเหยื่อ คุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐ 14) ยังไม่พบการประเมินผลแบบมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมต่อมาตรการของภาครัฐในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ และ 15) ไม่มีองค์กรถาวรที่เป็นเอกภาพแท้จริง เบ็ดเสร็จและครบวงจรในการต่อต้านการค้ามนุษย์
คณะวิจัยกังวลว่า ประเทศไทยจะถูกจัดอันดับขึ้นลงเหมือนเดิมไม่ยั่งยืน จึงเสนอให้มีองค์กรถาวรต่อต้านการค้ามนุษย์ที่เป็นองค์กรของรัฐรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยตรงทำงานด้านฐานข้อมูล กำหนดยุทธศาสตร์ และนโยบาย มีมาตรฐานปฏิบัติการเป็นหนึ่งที่พึ่งประชาชน ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางของปัญหาเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ ป.ป.ม. อยู่กับหน่วยงานความมั่นคงแต่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคประชาสังคม (Civil Society) เพื่อช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ชาติและรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างยั่งยืน หากการเปลี่ยนแปลงไม่เกิดในยุคนี้ก็จะเกิดขึ้นยากในยุคการเมืองแบบดั้งเดิม