กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กทม.
นายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. เปิดเผยถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนในกรุงเทพมหานคร ว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเกี่ยวกับการนำช้างเข้ามาเร่ร่อนประกอบอาชีพในกรุงเทพมหานครอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2538 โดยปลัดกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตกำชับให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราการนำช้างมาเดินประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ เนื่องจากการกระทำดังกล่าว นอกจากจะเป็นการกระทำผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อันเป็นอันตรายที่เกิดขึ้นจากช้างตกมันหรืออาละวาด รวมทั้งเป็นการทรมานสัตว์ ด้วย ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเมื่อพบช้างเร่ร่อนในเขตพื้นที่สถานตำรวจนครบาลใด ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลนั้นบังคับช้างอยู่ ณ จุดที่พบช้างหรือสถานที่เหมาะสม และให้ประสานงานผู้อำนวยการเขตพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครเดินทางมารับและส่งกลับภูมิลำเนาเดิม หรือปางช้างที่มีความประสงค์จะรับช้างไปทำงานต่อไป ดังนั้นหากประชาชนพบเห็นช้างเร่ร่อนขอให้โทรแจ้งไปยังสำนักงานเขต หรือสถานีตำรวจนครบาลพื้นที่
ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวต่อไปว่า เกี่ยวกับปัญหาช้างเร่ร่อนนี้ได้มีประชาชนร้องเรียนผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชน และกรุงเทพมหานคร เป็นจำนวนมาก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ดีการดำเนินการของกรุงเทพมหานคร ในการบังคับการตามกฎหมายเป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ เพราะเป็นการใช้มาตรการทางกฎหมายกดดันมิให้มีการนำช้างเข้ามาเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ในการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนอย่างถาวรจะต้องดำเนินการร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการสร้างงานให้กับช้างและควาญช้าง ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อปลูกอาหารช้างที่จังหวัดสุรินทร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดโครงการนำช้างกลับบ้าน ภาคีช้างไทยจัดทำโครงการนำร่องช้างลาดตระเวนป่าให้กรมป่าไม้ ซึ่งการสร้างงานและหาแหล่งอาหารช้าง ณ ภูมิลำเนาเดิม นี้ จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและตรงตามสาเหตุ
อนึ่ง สำหรับช้างเร่ร่อนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครในปัจจุบันมีจำนวนไม่ตายตัว เพราะจะมีการนำช้างเข้า-ออกในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลา จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์กรเอกชนที่ดูแลเรื่องช้าง เช่น มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย พบว่าจะมีอยู่ประมาณ 80-100 เชือก บางครั้งมีจำนวนสูงถึง 150 เชือก โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามา ทั้งนี้เพราะเงินที่ได้รับต่อเดือนจากการขายอาหารช้างให้กับประชาชนที่มีความสงสารช้างสูงมาก จึงเป็นแรงจูงใจให้เจ้าของช้างนำช้างหรือเช่าช้างมาประกอบอาชีพในกรุงเทพมหานคร และปัจจุบันพบว่าผู้ที่นำช้างเข้ามาในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่จะเป็นการเช่าช้างมาจากนายทุน มีการจัดเส้นทางการเดินทางหารายได้อย่างเป็นระบบ--จบ--
-นศ-