กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--แมสคอท คอมมูนิเคชั่น
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดแถลงข่าวและเสวนาวิชาการ เรื่อง "สะเต็มศึกษา: เรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา พัฒนานวัตกรรม นำสู่อาชีพ" เพื่อวางรากฐานสะเต็มศึกษาให้เป็นรูปธรรม ณ โรงแรม S31 กรุงเทพฯ
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. เปิดเผยว่ายุทธศาสตร์สะเต็มศึกษาจำเป็นต้องมี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน 2) การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้สะเต็มศึกษา 3) การพัฒนาครูและบุคลากรสะเต็ม และการส่งเสริมให้ทูตสะเต็ม เข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจต่ออาชีพด้านสะเต็ม และ 4) การปรับเปลี่ยนการประเมินในโรงเรียน และระดับชาติ ให้สอดคล้องกับสะเต็มศึกษา โดยมุ่งเน้นการประเมินความรู้ ควบคู่ไปกับทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และพัฒนาระบบการประเมินให้ครอบคลุมการวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาในชีวิตจริง
ผู้อำนวยการ สสวท. ยังได้กล่าวถึงความก้าวหน้าในเรื่องนี้ว่าได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนจัดตั้งศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์ ตลอดจนมาตรการในการดำเนินงานร่วมกับศูนย์สะเต็มศึกษาภาค 13 ศูนย์เพื่อสร้างและพัฒนากำลังคนด้านสะเต็มศึกษาที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่น โดยมุ่งสร้างโรงเรียนในสังกัด สพฐ. 91 โรงเรียน เป็นโรงเรียนต้นแบบของการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา พร้อมทั้งขยายโรงเรียนเครือข่ายสะเต็มศึกษาให้ครอบคลุมทุกสังกัด ทุกเขตพื้นที่การศึกษา โดยกลไกการพัฒนาครูในรูปแบบ Train the Trainer สร้างและพัฒนาวิทยากรหลัก (core trainer) เพื่อพัฒนาวิทยากรท้องถิ่น (local trainer) และครูผู้สอนสะเต็มศึกษา (STEM teacher)
ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาให้นักเรียน ผู้ปกครองและครู จึงได้จัดกิจกรรม Thailand STEM Festival เป็นประจำทุกปีด้วย
ในส่วนของการเสวนา หัวข้อ "สะเต็มศึกษา: เรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา พัฒนานวัตกรรม นำสู่อาชีพ" นั้น ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบัณฑิตในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) กล่าวว่า ประเทศไทยต้องการกำลังคนด้าน STEM จำนวนมาก ให้สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยกำลังคนด้าน STEM จำเป็นต้องมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่ง World Economic Forum (WEF) ได้ให้นิยามไว้ครอบคลุมใน 3 มิติ ได้แก่
1. ทักษะในการดำรงชีวิต อาทิ การอ่านเขียน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ICT ฯลฯ
2. ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารและการทำงานเป็นทีม
และ 3. บุคลิกภาพแบบใหม่ เช่น การมีจิตอาสา ความเป็นผู้นำ ความเป็นผู้ริเริ่ม
ผศ.ดร.พลกฤต กฤชไมตรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกลของ สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาเครื่องกลและไฟฟ้าไทย ได้กล่าวถึงแนวคิดการใช้วิศวกรรมในการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาว่า ในการทำกิจกรรมการเรียนรู้สะเต็มศึกษานั้นมีจุดเด่นอันหนึ่งคือการผนวกแนวคิดการออกแบบเชิงวิศวกรรม หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า engineering design process ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ภายใต้ข้อจำกัดด้านวัสดุ อุปกรณ์ เวลา ทุน หรือข้อจำกัดอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ของการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความคุ้มค่า ซึ่งแนวคิดคำว่าวิศวกรรมในบริบทของสะเต็มศึกษานี้จะไม่ได้หมายถึงเนื้อหาที่ลึกมากเหมือนการเรียนวิศวกรรมในระดับมหาวิทยาลัย และแนวคิดการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมนี้จะนำมาซึ่งการได้ผลผลิตใหม่ๆ นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังทักษะการทำงานให้ผู้เรียนเพื่อเป็นบุคลากรที่มีความพร้อมในการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป
ครูเสกสรร สรรสรพิสุทธิ์ ครูชำนาญการ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษามีจุดเด่นที่การนำกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม มาผนวกเข้ากับการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่อยู่ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย กิจกรรมสะเต็มศึกษาเน้นการนำประเด็นหรือสถานการณ์ที่อยู่ใกล้ตัวนักเรียน อาจเป็นปัญหา เหตุการณ์ หรืออาชีพที่พบเห็นได้ในชุมชนมาเชื่อมโยงเข้ากับเนื้อหาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สร้างโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่ได้เรียนรู้ในชั้นเรียน และความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีหาวิธีการหรือพัฒนาชิ้นงานเพื่อแก้ปัญหาหรือสถานการณ์ที่ครูนำเสนอ การจัดการเรียนรู้แบบนี้ช่วยให้นักเรียนได้เห็นประโยชน์ของความรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่นักเรียนใช้ในชั้นเรียน อีกทั้งเป็นการฝึกความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม เนื้อหาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสถานการณ์ที่ครูกำหนดต้องสอดคล้องกับตัวชี้วัดในระดับชั้นที่นักเรียนศึกษาอยู่และต้องคำนึงถึงวิธีการเรียนรู้และความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนในแต่ละวัย
และนายภักดี เหมทานนท์ ผู้อำนวยการ ร.ร.เบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การผลักดันให้ สะเต็มศึกษาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแบบองค์รวมในโรงเรียนได้นั้น ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเอาจริงเอาจัง ส่งเสริมให้ครูทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องมีความตระหนักถึงความสำคัญของสะเต็มศึกษา และต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสะเต็มศึกษา โดยการบริหารจัดการการเรียนการสอนสะเต็มศึกษานั้น จะต้องให้สอดรับกับนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยโรงเรียนสามารถนำกิจกรรมสะเต็มศึกษาไปใช้จัดกิจกรรมได้เลย นอกจากนี้ผู้บริหารโรงเรียนต้องสนับสนุนการทำงานเชิงบูรณาการของครูใน 3-4 วิชาที่เกี่ยวข้องในสะเต็มศึกษา และต้องส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ร่วมกันของครู สร้างเป็นชุมชนของการเรียนรู้ของครู เพื่อช่วยกระตุ้นให้ครูปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน และตื่นตัวในการใช้สะเต็มศึกษา