กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--นิด้า
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ที่มาของนายกรัฐมนตรี" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเสนอรายชื่อผู้ที่จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้น ในแต่ละภาค สุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีหากรู้ว่าพรรคการเมืองจะเสนอผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จะมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.18 ระบุว่า มีผล ขณะที่ ร้อยละ 29.26 ระบุว่า ไม่มีผล และร้อยละ 2.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อกำหนดที่ว่า ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองต้องประกาศรายชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.61 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 9.99 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อจำนวนรายชื่อบุคคลที่เหมาะสม ที่พรรคการเมืองจะประกาศเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.45 ระบุว่า ควรเสนอรายชื่อได้ไม่เกิน 1 คน รองลงมา ร้อยละ 37.09 ระบุว่า ควรเสนอรายชื่อได้ไม่เกิน 3 คน ร้อยละ 10.47 ระบุว่า ควรเสนอรายชื่อได้ไม่เกิน 5 คน ร้อยละ 6.40 ระบุว่า ควรเสนอรายชื่อไม่เกิน 2 คน 4 คน และ 10 คน ตามลำดับ และบางส่วนเห็นว่าไม่ควรจำกัดจำนวน และร้อยละ 7.59 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะประกาศเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.43 ระบุว่า เป็นผู้สมัคร ส.ส. หรือไม่ก็ได้ รองลงมา ร้อยละ 41.01 ระบุว่า ต้องเป็นผู้สมัคร ส.ส. เขต หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เท่านั้น ร้อยละ 0.56 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ จะเป็นใครก็ได้ ขอให้เป็นคนดีมีความสามารถในการบริหารบ้านเมือง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และร้อยละ 6.00 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีที่พรรคการเมืองต่างพรรคกัน อาจเสนอรายชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.24 ระบุว่า ควรอนุญาตให้ทำได้ ขณะที่ ร้อยละ 35.81 ระบุว่า ไม่ควรอนุญาตให้ทำได้ และร้อยละ 8.95 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.71 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.34 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.39 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.33 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.23 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 50.20 เป็นเพศชาย และร้อยละ 49.80 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 6.24 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 18.07 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.38 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 37.41 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 11.67 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 93.05 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.32 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.40 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 21.42 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 74.18 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 1.92 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่าง ร้อยละ 27.18 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.62 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.47 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.10 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.60 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 11.51 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.83 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 25.42 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.75 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.71 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 13.83 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.00 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 13.59 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.98 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 ร้อยละ 31.73 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 ร้อยละ 14.15 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.63 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 7.83 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 6.08 ไม่ระบุรายได้