กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ไอแอมพีอาร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) เปิดเวทีเสวนา "บทบาทของสื่อต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ในจังหวัดนครราชสีมา" ภายใต้ "โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา" ระดมข้อคิดเห็นและความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกแขนงในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมหนุนเสริมเติมพลังขับเคลื่อนจังหวัดปฏิรูปการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทและการพัฒนาของจังหวัด
ดร.กัณทิมา ศิริจีระชัย รองอธิการบดีฝ่ายสัมพันธ์กับองค์กรชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเปิดเผยว่า กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดของของสื่อมวลชนในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อร่วมกันกำหนดบทบาท และสร้างการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา
"ปัจจุบันเป็นยุคของการผสมผสานระหว่างสังคมแห่งการเรียนรู้และสังคมเทคโนโลยี ซึ่งต้องยอมรับว่าสถาบันสื่อมวลชนในปัจจุบันมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นและสร้างการรับรู้ให้กับคนในสังคม เนื่องจากเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ในทุกช่องทางการสื่อสารในปัจจุบัน เวทีในวันนี้จึงเป็นการระดมความคิดระหว่างสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพื่อนำเสนอแนวทางอันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนโครงการจังหวัดปฏิรูปการศึกษา และยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของให้ดียิ่งขึ้น"
นายเอกชัย บูรณกิจ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ กว่า 80 ท่านมาร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนในจังหวัดนครราชสีมาเห็นด้วยกับแนวทางการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของ มทส. และ สสค.
"สื่อมวลชนทุกคนของจังหวัดนครราชสีมาพร้อมที่จะสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัด ด้วยการสื่อสารให้ชาวโคราชมีความเข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งการที่จะให้เกิดความยั่งยืนนั้น จะต้องจัดองค์กรสื่อเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของอย่างต่อเนื่อง"
ด้าน นายผดุง จตุรภักดิ์ หัวหน้าฝ่ายข่าวและฝ่ายรายการ KCTV กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่าในวันนี้สื่อโคราชพร้อมเปิดพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ เคเบิล หนังสือพิมพ์ เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาให้ประชาชนชาวโคราชได้รับรู้ เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว
"ต่อจากนี้ทาง มทส. จะต้องจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกของสภาพการศึกษาในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาต่างๆ หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้สื่อสามารถหยิบยกข้อมูลเหล่านี้ไปใช้กระตุ้นสังคมให้เกิดความตระหนัก รวมไปถึงการเป็นแม่ข่ายในการผลิตสื่อความรู้ในรูปแบบต่างๆ ให้สื่อช่วยกันนำไปเผยแพร่ต่อ เพื่อให้โคราชโมเดลซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดนครราชสีมาประสบความสำเร็จ"
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. ระบุว่าแนวทางการสร้างเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่(Area-based Education หรือ ABE) โดยใช้กลไกระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น เป็นฐานในการสะท้อนปัญหา และเข้ามามีบทบาทในการวางแผนการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาของเยาวชนในพื้นที่ของตนเองให้มากขึ้นนั้น จะทำให้การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน
"สำหรับจังหวัดนครราชสีมา มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นผู้ประสานงาน ได้รวบรวมข้อมูลและเปิดเวทีให้ภาคีในภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมกันสะท้อนปัญหาเพื่อร่จัดตั้งสมัชชาการศึกษาของจังหวัดมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเวทีในครั้งนี้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสื่อมวลชนของจังหวัดนครราชสีมาพร้อมเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญ ในการทำหน้าที่ให้ความรู้และกระตุ้นสังคมให้หันมาร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ของจังหวัดนครราชสีมา และสร้างโคราชโมเดลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม"