กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ไอแอมพีอาร์
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดเวทีระดมความคิดเห็นกำหนด "ยุทธศาสตร์การศึกษา" มุ่งสู่การขับเคลื่อน "สมัชชาการศึกษาจังหวัด" ผสานความร่วมมือทุกองคาพยพรวมพลังปฏิรูปการศึกษา พร้อมเปิดตัวหลักสูตร "พุทธทาสศึกษา" เพื่อปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชน ตั้งเป้าสร้าง "คนดี ศรีสุราษฎร์"
นายวงศศิริ พรหมชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เวทีระดมความคิด "ยุทธศาสตร์การศึกษา: คนดี ศรีสุราษฎร์" สู่การขับเคลื่อน "สมัชชาการศึกษาจังหวัด" ในวันนี้เป็นเวทีที่ทุกองคาพยพของจังหวัดมาร่วมกันคิด ร่วมกันกำหนดทิศทางของการศึกษาให้กับตัวเอง โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การศึกษาซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะนำไปสู่ผลลัพธ์และเป้าหมายในการทำงานเดียวกันโดยไม่มองว่าอยู่ภายใต้สังกัดหรือหน่วยงานใด แต่ยึดผลประโยชน์ของเด็กเป็นตัวตั้ง
"เวทีในวันนี้เป็นการเดินหน้าเพื่อให้เกิดเป้าหมายร่วมกัน ในการพัฒนาบุตรหลานของเราให้เป็นคนดีที่ตามคำขวัญของจังหวัด และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่สมัชชาการศึกษาจังหวัดเพื่อให้เกิดการปฎิรูปการศึกษาและดำเนินงานต่างๆ ที่ยั่งยืน โดยเฉพาะหลักสูตรพุทธทาสศึกษา ที่จะทำให้เด็กได้เกิดความรู้ความเข้าใจและนำหลักคิดที่ท่านพุทธทาสสอนไว้มาปรับใช้ในการการดำรงชีวิตได้"
นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าการศึกษาที่แท้จริงนั้นไม่ได้มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีเรื่องสุขภาวะในด้านอื่นๆ ประกอบไปด้วยกัน ดังนั้นการทำงานด้านการศึกษาจึงต้องมีหลายหน่วยงานมาช่วยกัน
"วันนี้เราจะปล่อยให้กระทรวงศึกษาทำงานด้านการศึกษาโดดเดี่ยวเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้อีกต่อไป ทุกภาคส่วนจะต้องมีการคุยกัน ทำยุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยสมัชชาการศึกษาจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อชวนคิดชวนคุยกันเพื่อแก้ปัญหาลูกหลานของเรา ทุกภาคส่วนที่มาในวันนี้ต่างก็มีความเข้าใจที่ตรงกันคือ เราไม่ได้ติดยึดในเรื่องของต้นสังกัดหรือนโยบายจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว แต่เปิดกว้างให้เราได้มีโอกาสได้ร่วมคิดร่วมทำ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำการปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ"
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่าการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จะสำเร็จได้ก็ด้วยการบูรณาการทั้งคนและงบประมาณ และต้องมีโจทย์ของจังหวัดร่วมกัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องชวนให้หลายฝ่ายได้มาพูดคุยกัน เพื่อให้มีข้อมูล มีแผนปฏิบัติการ ซึ่งจะเป็นธงในการทำงานร่วมกันต่อไป
"สิ่งที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น จะต้องเกิดขึ้นมาจากด้านล่าง คือเกิดขึ้นจากสิ่งที่ทุกคนจากทุกจังหวัดกำลังดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้ โดยต้องทำในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อที่เราจะได้ของใหม่ขึ้นมา ซึ่งขณะนี้หลายจังหวัดก็เริ่มมีงานที่เห็นรูปธรรมมากขึ้นแล้ว ที่ผ่านมาระบบการศึกษาของไทยถูกมายาคติครอบงำทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย แต่การศึกษาที่ดีจะต้องนำไปสู่การความหลากหลายในการเรียนรู้ และเกิดเด็กที่เก่งหลายๆ แบบ ซึ่งนับจากนี้พลังในทุกๆ การทำงาน ในทุกๆ เรื่องไม่เฉพาะเรื่องของการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะต้องเกิดขึ้นมาจากท้องถิ่น โดยรัฐพียงแค่อำนวยความสะดวกด้วยการสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการทำงานของท้องถิ่นเท่านั้น"