กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปตัวลดลงทุกชนิดโดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)ปรับตัว ลดลง 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลง 2.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· International Energy Agency (IEA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปของกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.ย. 58 อยู่ในระดับสูงถึง 3 พันล้านบาร์เรล มากเพียงพอที่จะรองรับความต้องการหากเกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์หรืออุปทานตึงตัว
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ย. 58 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 0.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 487.3 ล้านบาร์เรล
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ย. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลงจากสัปดาห์ก่อน 20,238 สัญญา มาอยู่ที่ 107,112 สัญญา ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน
· กระทรวงพลังงานรัสเซียประกาศปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเดือน ต.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน0.4% มาอยู่ที่ 10.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าปริมาณการผลิตเฉลี่ยปี 2558-2559 อยู่ที่ระดับ10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่จะลดลง 1.9% ในปี 2560 เพราะผลกระทบจากการคว่ำบาตร
· The International Atomic Energy Agency (IAEA) เผยอิหร่านยกเลิกกิจกรรมทางนิวเคลียร์และลดจำนวนเครื่องเหวี่ยงหนีศูนย์ (Centrifuges) รวมถึงลดปริมาณสำรองยูเรเนียมตามข้อกำหนดของกลุ่มP5+1 และมีแนวโน้มที่มาตรการคว่ำบาตรจะถูกยกเลิกเร็วๆนี้
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claim) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5,000 ราย มาอยู่ที่ 271,000 ราย ต่ำกว่าระดับ 300,000 ราย มาต่อเนื่อง 37สัปดาห์ ใกล้เคียงกับเมื่อทศวรรษ 1970
· Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 10 แท่น อยู่ที่ระดับ 564 แท่น และนับเป็นการปรับลดจำนวนแท่นผลิตน้ำมันดิบรายสัปดาห์มากที่สุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 58
· Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียเผยความต้องการใช้น้ำมันของอินเดียในเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 3.83 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 5 เดือน หรือเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 570,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นและกิจกรรมภาคก่อสร้างสูงขึ้น
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯลดจำนวนแท่นผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่องเฉลี่ย 9 แท่น ต่อสัปดาห์ตั้งแต่เดือน ก.ย. 58 และ นาย Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศพร้อมดำเนินมาตรการกระตุ้นเงินเฟ้อ หากพิจารณาเห็นว่านโยบายของ ECB ซึ่งใช้มาตรการ QE ซื้อธนบัตรและตราสารหนี้ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ยังไม่บรรลุเป้าหมาย อย่างไรก็ตามปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8 มาอยู่ที่ 487 ล้านบาร์เรล และนักวิเคราะห์ประเมิน OPEC จะไม่ปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในการประชุมวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ส่วนรัสเซียประกาศคงการผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงเพราะต้องการงบประมาณใช้ทำสงครามในซีเรีย ให้จับตาการประชุมของ FED กลางเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่ง นาย James Bullard ประธาน FED สาขาเซนต์หลุยส์ เผยว่าหาก FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกแล้ว นโยบายการเงินสหรัฐฯ ในอนาคตมีแนวโน้มจับทิศทางได้ยากขึ้น เพราะการตัดสินใจครั้งต่อไปขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ได้รับระหว่างการประชุมแต่ละครั้ง ซึ่ง FED พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางการกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยจะพิจารณาพัฒนาการทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent, WTIและ Dubai จะเคลื่อนไหวที่ระดับ 42.70-46.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล , 40.70-44.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ 39.80-43.40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับลดลงจากข่าว บริษัท Cosmo Oil ในญี่ปุ่นกลับมาเดินเครื่องหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ CDU หมายเลข 6 (กำลังการกลั่น 69,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Yokkaichi ในวันที่ 14 พ.ย. 58 หลังซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ และ Reuters คาดว่าอินโดนีเซียอาจนำเข้าน้ำมันเบนซินลดลงในเดือน ธ.ค. 58 เนื่องจากโรงกลั่น Cilacap (กำลังการกลั่น 348,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งติดตั้งหน่วย Residual Fluid Catalytic Cracker (กำลังการกลั่น 69,000 บาร์เรลต่อวัน) ผลิต น้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 30,000 บาร์เรลต่อวัน และโรงแยกคอนเดนเสท (กำลังการกลั่น 100, 000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Trans Pacific Petroleum Indotama หรือ TPPI ผลิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 61,000 บาร์เรลต่อวันประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 18 พ.ย. 58เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 เดือน อีกทั้ง Petroleum Association of Japan รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ย. 58ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.79% มาอยู่ที่ระดับ 10.67 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นกลับมาดำเนินการหลังการปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของกระทรวงน้ำมันอินเดียรายงานยอดขายน้ำมันเบนซินในประเทศ เดือน ต.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 14.5 % อยู่ที่ 15.7 ล้านบาร์เรล และกรมศุลกากรของเกาหลีใต้เผยตัวเลขการส่งออกน้ำมันเบนซินของเกาหลีใต้ ในเดือน ต.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 820,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 6.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะความต้องการภายในประเทศสูงขึ้น สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลงจาก Singapore Refining Co. ของสิงค์โปร์มีแผนจะกลับมาเดินเครื่องหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (CDU กำลังการกลั่น 60,000 บาร์เรลต่อวัน) ของโรงกลั่นน้ำมัน SRC (กำลังการกลั่น 290,000 บาร์เรลต่อวัน) ปลายเดือน พ.ย. 58 นี้ ประกอบกับ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 18 พ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.9ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ขณะที่ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ย. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.3% มาอยู่ที่ระดับ 9.76 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม PPAC ของอินเดียรายงานยอดขายน้ำมันดีเซลในประเทศ เดือน ต.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 16.3 %อยู่ที่ 47.6 ล้านบาร์เรล อีกทั้งนักวิเคราะห์จาก Energy Aspects รายงานตลาดน้ำมันดีเซลแข็งแกร่ง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดีอาระเบียปิดซ่อมบำรุงช่วง ก.ย.- ต.ค. 58 ทำให้กำลังการกลั่นลดลงเกือบ 900,000 บาร์เรลต่อวัน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56-59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล