กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนอันตรายจากการปล่อยวัตถุที่เป็นภัยต่อการเดินอากาศขึ้นอยู่ท้องฟ้า ทั้งการปล่อยโคมลอย ลูกโป่ง การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ และการยิงลำแสงเลเซอร์ พร้อมแนะหน่วยงานที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลรื่นเริง ยึดหลักปฏิบัติในการจัดงานให้มีความปลอดภัย โดยเลือกสถานที่จัดกิจกรรมในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่อยู่ใกล้หรืออยู่ในพื้นที่โดยรอบสนามบิน ในรัศมี 8 กิโลเมตร
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลรื่นเริงหรือการจัดงานเฉลิมฉลองตามสถานที่ต่างๆ มักสร้างบรรยากาศการจัดงานให้ตื่นตาตื่นใจ โดยการปล่อยโคมลอย ลูกโป่ง จุดพลุ ดอกไม้ไฟ และยิงลำแสงเลเซอร์ซึ่งท่ามกลางความสนุกสนาน และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้จัดงาน อาจส่งผลกระทบต่อการเดินอากาศและเป็นอันตรายต่ออากาศยาน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมทิศทาง ระดับความสูงในการยิงและลอยตัวของวัตถุดังกล่าวได้ ซึ่งบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ประสานข้อมูลคำเตือนอันตรายจากการปล่อยวัตถุที่เป็นภัยต่อการเดินอากาศขึ้นสู่ท้องฟ้า ดังนี้ โคมลอยไม่ดัดแปลงโคมลอยให้ลอยอยู่บนท้องฟ้าได้เป็นเวลานานและลอยตัวในระดับสูงถึงเพดานการบิน เพราะอาจลอยเข้าไปกระทบกับลำตัวของอากาศยานหรือถูกดูดเข้าไปในเครื่องยนต์ อีกทั้งหากโคมลอยตกบริเวณทางวิ่ง (Runway) ทางขับ (Taxiway) หรือลานจอดอากาศยาน (Apron) จะก่อให้เกิดอันตรายต่ออากาศยานได้ ลูกโป่ง หากปล่อยลูกโป่งจำนวนมากขึ้นสู่ท้องฟ้า อาจส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ของอากาศยาน โดยเฉพาะลูกโป่งบางประเภทอาจบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นของนักบินหรือรบกวนสัญญาณของเครื่องช่วยเดินอากาศและอุปกรณ์เรดาห์ภาคพื้น พลุ ดอกไม้ไฟ การจุดพลุ ดอกไม้ไฟให้ลอยขึ้นไปแตกกลางอากาศในบริเวณโดยรอบสนามบิน อาจเข้าไปในแนวร่อนของอากาศยาน อีกทั้งลำแสงและแสงสว่างของพลุอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นเส้นทางของนักบินขณะควบคุมอากาศยานขึ้น – ลง ได้ ลำแสงเลเซอร์ หรือสปอตไลท์ที่มีสีต่างๆ ซึ่งถูกยิงหรือกวาดขึ้นไปบนท้องฟ้า อาจส่งผลให้นักบินสายตาพร่ามัวและมองไม่เห็นได้ชั่วขณะ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังนำอากาศยานร่อนลงสู่ทางวิ่ง ก่อให้เกิดอันตรายได้
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่ออากาศยานและการเดินอากาศ ขอความร่วมมืองดปล่อยโคมลอย ลูกโป่ง พลุไฟ บั้งไฟและลำแสงเลเซอร์ขึ้นสู่ท้องฟ้า หรือกระทำการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบท่าอากาศยานในรัศมี 8 กิโลเมตร ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่ออากาศยาน ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หากมีการกระทำผิดและส่งผลกระทบต่ออากาศยานในระหว่างให้บริการ จนทำให้อากาศยานเสียหายไม่สามารถทำการบินได้ หรือเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างการบิน ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558 และประมวลกฎหมายอาญา มีบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 – 20 ปี และปรับเป็นเงินตั้งแต่6 – 8 แสนบาท
ท้ายนี้ ขอให้หน่วยงานที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองหรืองานรื่นเริงต่างๆ ยึดหลักปฏิบัติในการจัดงานด้วยความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการกระทำการใดๆ ที่เป็นการปล่อยวัตถุที่เป็นภัยต่อการเดินอากาศขึ้นสู่ท้องฟ้า พร้อมปฏิบัติตามแนวทางที่ภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจสร้างความเสียหายต่ออากาศยานหรือเป็นภัยต่อการเดินอากาศ
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th