กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--NBTC Rights
โดย นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz สิ้นสุดลง ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นราคาชนะประมูลที่สูงเป็นสถิติโลกบ้าง หรือเป็นราคาที่แพงเกินไปบ้าง จนแม้แต่บริษัทจัดอันดับเครดิตบางสำนัก ก็แถลงว่า การประมูลจบด้วยราคาประมูลที่สูงกว่าที่คาด หากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ยังเป็นลักษณะนี้ จะต้องปรับลดอันดับเครดิตของผู้ชนะการประมูลบางราย
ในทางตรงข้าม มีผู้คำนวณว่า ราคานี้หากนำมาเฉลี่ยต่อจำนวนปีที่ได้รับอนุญาตแล้ว เอกชนจะเหลือต้นทุนค่าคลื่นความถี่เพียงปีละสองพันล้านบาทเศษ ทั้งที่แต่เดิมส่วนแบ่งรายได้ตามระบบสัมปทานที่เอกชนต้องนำส่งรัฐบนคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวอยู่ในระดับปีละหมื่นล้านบาท ราคาที่ประมูลกันไปนั้นจึงเป็นราคาที่ถูกลงมาก
การอธิบายทั้งสองด้านนี้ เป็นไปตามมุมมองของแต่ละฝ่าย
แต่ในตลาดโทรคมนาคมแล้ว เราต้องยอมรับว่า ทิศทางของโลก คือการเปลี่ยนผ่านจากการผูกขาดบริการโดยรัฐเป็นการแข่งขันโดยเอกชนมีส่วนร่วม ตลอดจนเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใช้เม็ดเงินลงทุนสูง มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนลำพังรัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ทันการเปลี่ยนแปลงได้
การชำระเงินประมูลคลื่นความถี่นั้น ประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดให้ชำระในช่วงแรกของใบอนุญาต หากจะให้ผ่อนชำระก็จำกัดเพียงปีแรกๆ เท่านั้น เพื่อให้ต้นทุนค่าคลื่นความถี่มีลักษณะเป็นต้นทุนจม คล้ายกับค่าเซ้งอาคาร แม้ผู้ประกอบการจะเจ๊งหรือเลิกกิจการ ก็ไม่สามารถทวงเงินส่วนนี้คืนไปได้ หรือแม้จะขาดทุนก็จ่ายล่วงหน้าเต็มจำนวนไปแล้ว ไม่สามารถลดหย่อนได้ ต่างจากเงินส่วนแบ่งรายได้สัมปทานที่นำส่งรัฐเป็นรายปี หากขาดทุนก็ไม่ต้องจ่าย หรือหากเลิกกิจการไปก่อนก็ยุติการคิดส่วนแบ่ง รัฐก็ขาดรายได้หลังจากนั้น ส่วนแบ่งรายได้แบบนี้จึงมีลักษณะเป็นค่าเช่ารายปี มิใช่ต้นทุนจม และถูกจัดเป็นต้นทุนดำเนินการ ซึ่งผู้ประกอบการมักจะผลักภาระมาให้ผู้บริโภคเป็นผู้แบกรับแทนได้ง่ายกว่าต้นทุนจม ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการฟันธงลงไปว่า เงินประมูลคลื่นความถี่เป็นต้นทุนจม และเป็นรายได้เข้ารัฐที่ไม่กระทบอัตราค่าบริการที่ผู้บริโภคใช้จริงแต่อย่างใด กล่าวคือเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับเองโดยแบ่งมาจากส่วนกำไรที่ตนจะได้รับ ไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้
หน้าที่สำคัญของการประมูลคลื่นความถี่ก็คือการคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพในการนำคลื่นความถี่นั้นไปใช้ให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจสูงสุด ผู้ที่สามารถทำรายได้จากบริการมากย่อมจะยอมจ่ายค่าคลื่นสูงกว่าผู้ที่มีความสามารถต่ำกว่า ราคาประมูลจึงยุติลงเมื่อผู้แข่งขันรายอื่นไม่สามารถเสนอราคาได้สูงกว่าข้อจำกัดทางธุรกิจของตนเอง เพราะหากเสนอราคาสูงกว่าความสามารถในการหารายได้ก็จะขาดทุนนั่นเอง ราคาชนะประมูลจึงเป็นราคาที่เป็นไปตามสภาพแวดล้อมของประเทศที่จัดประมูลในครั้งนั้นๆ หากมีความต้องการคลื่นความถี่น้อยก็จะจบลงที่ราคาต่ำ หากมีความต้องการคลื่นความถี่มากราคาก็จะสูง จึงมีหลักการว่า ในการประมูลที่แข่งขันราคากันอย่างเต็มที่ ราคาสุดท้ายคือราคาที่เหมาะสม
สำหรับการประมูลในครั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลยืนยันว่า ต้นทุนค่าคลื่นความถี่ระดับนี้ยังอยู่ในระดับที่ทำกำไรจากบริการได้ มิใช่ประมูลมาเพื่อขาดทุน และจากข้อมูลการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ ที่ กสทช. ได้จัดทำสำหรับการประมูลครั้งนี้ ยืนยันได้ว่า
1. ราคานี้มิได้ทำลายสถิติโลก เพราะหากนำข้อมูลการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบโดยปรับตัวเลขประชากรและปริมาณคลื่นความถี่ให้เข้ากับสถานการณ์การประมูลของเราแล้ว ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มูลค่าคลื่นที่สูงสุดรวมสองใบอนุญาต จะอยู่ที่แสนล้านบาทเศษ และมูลค่าสูงสุดในกลุ่มประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกจะอยู่ที่แสนห้าหมื่นล้านบาทเศษ การประมูลในครั้งนี้จบลงที่แปดหมื่นล้านบาทเศษ จึงมิได้ทำลายสถิติใดๆ เลย
2. ราคานี้มิได้เกินราคาคาดการณ์ขั้นสูงที่ กสทช. ได้คำนวณโดยใช้หลักวิชาการ ซึ่งพบว่า เพดานราคาสูงสุดที่ยังทำกำไรได้นั้นสูงกว่าราคาชนะประมูลครั้งนี้นับพันล้านบาท แต่เหตุที่การประมูลมิได้จบที่ราคานั้น เพราะผู้แข่งขันในการประมูลรายที่สามยุติการเสนอราคาตามศักยภาพทางธุรกิจของตน กรณีจึงมิได้เกิดจากการสมยอมราคา
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ ข้างต้นแล้ว จึงไม่อาจสรุปว่า ราคาชนะประมูลครั้งนี้เป็นราคาที่แพงเกินไป ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเปรียบเทียบโดยตรงกับส่วนแบ่งรายได้จากระบบสัมปทานเพราะมีฐานคิดและผลกระทบต่อผู้บริโภคแตกต่างกัน แต่ราคาชนะประมูลครั้งนี้สะท้อนความต้องการคลื่นความถี่ในตลาดโทรคมนาคมไทย และเป็นผลลัพธ์จากความต้องการแทรกตัวเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งหากทั้งสององค์ประกอบนี้ยังดำรงอยู่ในช่วงการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เราก็คงจะเห็นการประมูลที่เข้มข้นไม่ต่างจากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เพียงแต่ปริมาณคลื่นความถี่ 900 MHz ที่นำมาประมูลมีจำนวนน้อยกว่า ระยะเวลาอนุญาตสั้นกว่า และข้อกำหนดภาระในการขยายโครงข่ายสูงกว่าคลื่นความถี่ 1800 MHz ดังนั้น แม้ในสถานการณ์ที่การแข่งขันประมูลเข้มข้น แต่คาดการณ์ได้ว่า จำนวนเงินสุดท้ายที่รัฐจะได้รับ ก็ไม่น่าจะแตะระดับแปดหมื่นล้านอย่างคลื่นความถี่ 1800 MHz เพราะจะเป็นระดับราคาที่ทำกำไรได้ค่อนข้างยาก ภายใต้เงื่อนไขใบอนุญาตดังกล่าว และสุดท้ายแล้ว ผู้ที่กำหนดราคาชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ว่าจะสูงมากน้อยเพียงใด คือผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายนั่นเอง