กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจนพจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่า วธ. ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี "ประเพณีลอยกระทง" ในทัศนะของประชาชนจำนวน 1,649 คน ซึ่งจากการสอบถามความคิดเห็นประชาชนว่าให้ความสำคัญ "วันลอยกระทง" มากน้อยเพียงใด พบว่า ร้อยละ 51.36 ให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นประเพณีของไทยที่มีมานาน อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามนี้ไว้ ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ฯลฯ รองลงมาร้อยละ 31.72 ค่อนข้างให้ความสำคัญ ร้อยละ 13.34 ไม่ค่อยให้ความสำคัญ และร้อยละ 3.58 ไม่ให้ความสำคัญเลย นอกจากนี้ได้สอบถามว่าเหตุผลเข้าร่วมเทศกาลลอยกระทง พบว่า ร้อยละ 86.07 ระบุว่าเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทย ร้อยละ 81.92 เพื่อขอขมาพระแม่คงคา ร้อยละ 62.64 เพื่อความสนุกสนาน ร้อยละ 53.95 เป็นโอกาสพิเศษที่ได้อยู่กับคนรัก และอื่นๆ ร้อยละ 33.21 ร่วมงานเป็นประจำทุกปี อยากเห็นบรรยากาศในการจัดงานมาดูความสวยงามของกระทง การจัดประกวดต่างๆ เป็นต้น
นายวีระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สอบถามว่าสิ่งที่ประชาชนวิตกกังวลเกี่ยวกับ "วันลอยกระทง" สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวล 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 79.55 พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การทะเลาะวิวาท เมาสุรา ลวนลาม ร้อยละ 76.71 วัฒนธรรมประเพณีไทยแบบดั้งเดิมค่อยๆ เลือนหายไป เน้นความทันสมัยมาแทน ร้อยละ 68.83 การแต่งกาย การดูแลตัวเองของวัยรุ่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังสอบถามว่าในฐานะคนไทย ประชาชนจะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์วัฒนธรรม "ประเพณีลอยกระทง" ได้อย่างไร ร้อยละ 82.67 ร่วมงานลอยกระทง ช่วยอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมไทย ร้อยละ 78.92 ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ประดิษฐ์กระทงให้สวยงาม ร้อยละ 73.03 พาคนในครอบครัว ญาติ/ชวนเพื่อนไปเที่ยวงานลอยกระทง เป็นต้น
ทั้งนี้ได้สอบถามความเห็นถึงสิ่งที่ประชาชนอยากให้ วธ. ดำเนินการ โดยร้อยละ 80.09 ต้องการให้เชิญชวนให้คนไทยร่วมงานตามเทศกาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีไทย เช่น เทศกาลลอยกระทงที่ใกล้จะถึงนี้และช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ร้อยละ 76.43 ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีให้เป็นไปตามประเพณีดั้งเดิม เน้นความเป็นไทยและให้คงอยู่สืบต่อไป ร้อยละ 71.89 ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด กวดขัน ให้อยู่ในขอบเขตเหมาะสม เช่น การทะเลาะวิวาท พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การประพฤติปฏิบัติตัวของวัยรุ่น เป็นต้น