กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ตีฆ้องร้องป่าว
เหตุอุทกภัยและโคลนถล่มในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เมื่อกลางปี 2549 เนื่องมาจากฝนตกติดต่อกันหลายวันทำให้ดินบนภูเขาแบกรับปริมาณน้ำไว้ไม่ไหว ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ทั้งบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ระบบสาธารณูปโภค ซึ่งอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ลับแล และ อ.ท่าปลา มีผู้เสียชีวิตมากถึง 75 ราย
ที่ตำบลนางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะด้วยสภาพพื้นที่ซึ่งอยู่ติดอุทยานลำน้ำน่าน โดยมีภูพญาพ่อเป็นภูเขาสำคัญอยู่ใกล้หมู่บ้านมากที่สุด แต่นับว่าเป็นความโชคดีที่ชาวตำบลนางพญาได้รับผลกระทบไม่มากนัก มีเพียงดินสไลด์ในบางจุด ทำให้ทุกคนต่างหันมาคิดกันแล้วว่า พื้นที่ ต.นางพญา อยู่ในจุดเสี่ยงที่จะเกิดดินโคลนถล่มได้ในอนาคต
ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงเร่งทำแผนเตรียมพร้อมรับมือเหตุภัยพิบัติต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกเรื่องของคนอยู่กับป่า เพื่อให้ทุกคนรักษาป่าและป่าจะรักษาคน
โรงเรียนน้ำพร้าสามัคคี ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญของการรับมือภัยพิบัติจึงได้จัดทำโครงการ "น้ำพร้า-นางพญาอาสาต้านภัยพิบัติ" โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จิรพงศ์ ซาซง ครูผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้เด็กได้รับรู้ถึงอันตรายจากภัยพิบัติและเรียนรู้ในการรับมือเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และจัดทำเป็นองค์ความรู้เพื่อส่งต่อไปยังชุมชน
ก่อนทำโครงการครูจิรพงศ์ได้ร่วมประชุมกับผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อตั้งเป็นคณะทำงานขึ้น โดยได้กำหนด 6 กิจกรรม ได้แก่ 1.เวทีอบรมให้ความรู้ 2.ลงพื้นที่จัดทำแผนที่ชุมชน 5 หมู่บ้าน โดยแกนนำเยาวชนหมู่บ้านละ 10 คน 3.ทำแผนรับมือภัยพิบัติ 4.ซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติ 5.จัดทำสมุดทำมือที่ระบุเรื่องเรื่องเกี่ยวกับภัยพิบัติ เช่น ปฏิทินเตือนภัย แผนที่เดินเท้า ขั้นตอนการปฏิบัติตัวก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ หมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุ หรือของผู้นำชุมชน และกิจกรรมสุดท้าย คือ สรุปผลโครงการ เป็นการนำเสนอโครงการทั้งหมดสู่สาธารณะให้ได้รับทราบ
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางโครงการได้นำเยาวชนในโครงการทำกิจกรรมบวชป่าภูพญาพ่อ โดยได้ความร่วมมือจากท้องถิ่นและผู้นำชุมชน แม้กิจกรรมนี้ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ แต่การบวชป่าเป็นการช่วยสร้างจิตสำนึกให้รักต้นไม้ ให้หวงแหนป่า
"เด็กๆ ที่ผ่านโครงการนี้ จะมีบทบาทและมีความพร้อมในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารเมื่อเกิดภัย เขาจะเข้าใจว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เราจึงคาดหวังว่ากิจกรรมต่างๆ ในโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนเกิดการตื่นตัว แม้จะพูดกันว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต แต่เราก็เชื่อว่าหากเกิดเหตุในอนาคตจริงเราก็มีความพร้อมที่จะฟื้นองค์ความรู้นี้ได้รวดเร็ว" ครูจิรพงศ์ กล่าว
โครงการสำเร็จมาขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือของชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ และพร้อมนำเข้าบรรจุในแผนงานทุกๆ ปี
นายรุ่ง สีมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนางพญา กล่าวว่า โครงการ "น้ำพร้า-นางพญาอาสาต้านภัยพิบัติ" นับว่าเป็นประโยชน์ที่ช่วยให้เด็กได้มีความรู้เรื่องภัยพิบัติ และจะมีบทบาทอย่างยิ่งในการรับมือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น กิจกรมบวชป่า เป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักรักษาป่า ที่ช่วยป้องกันน้ำป่าและดินโคลนถล่มไม่ให้เกิดซ้ำร้อยเมื่อปี 2549 ซึ่งขณะนี้บนภูพญาพ่อมีความอุดมสมบูรณ์กว่าอดีต ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันดูแลป่ามาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี
ส่วน นายสมมิตร พุทธิชัย กำนันตำบลนางพญา กล่าวว่า ภายหลังเกิดเหตุเมื่อปี 2549 ทุกคนต่างตระหนักถึงภัยพิบัติกันมากขึ้น ตอนนี้เราพยายามให้ชาวบ้านอนุรักษ์ดิน น้ำ และป่า อีกทั้งเราเป็นพื้นที่อยู่เหนือเขื่อนสิริกิตติ์ ยิ่งต้องรักษาป่าไม้ เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์มีน้ำไหลลงเขื่อน เพื่อให้พี่น้องทางใต้เขื่อนได้น้ำทำไร่ ทำนา โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนที่เราต้องปลูกฝังให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ ไม่ต้องไปบุกรุกป่า และให้เอาแบบอย่างที่ปราชญ์ชาวบ้านและชาวชุมชนที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้มาอย่างยาวนาน และจะต้องสืบทอดต่อไป
โครงการสำเร็จขึ้นได้มาจากเยาวชนที่ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง ว่าจะกำหนดทิศทางของชุมชนไปทางไหน เพราะที่นี่คือบ้านที่เขาจะต้องอยู่อาศัยไปตลอดชีวิต
น.ส.ณัฐชนิญา ทองอิน หรือน้องน้ำฝน นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนน้ำพร้าสามัคคี ซึ่งเป็นแกนนำเยาวชนที่ร่วมโครงการ บอกว่า จากการที่เราเป็นประธานนักเรียนเลยยิ่งต้องเป็นแกนนำให้เพื่อนๆ เลยชวนเพื่อนๆ มาเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีทั้งหมด 6 กิจกรรม ทำให้เรารู้ว่าพื้นที่ตำบลเราเป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด แต่จะเสี่ยงมากน้อยก็แล้วแต่ละจุดแต่ละหมู่บ้าน อย่างเช่นบ้านของหนูซึ่งอยู่ติดลำห้วย เมื่อปี 2549 ก็มีน้ำไหลเข้ามาในบ้านเช่นกัน แต่ไม่เยอะ โชคดีที่ฝนหยุดตกเสียก่อน
โครงการนี้จะช่วยให้เรารู้วิธีเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างถูกวิธี เช่น ก่อนเกิดเหตุเราก็ต้องมีการเฝ้าระวังตามที่เราได้เรียนมา และเมื่อจะเกิดเหตุก็ต้องเก็บเอกสารสำคัญติดตัวไปด้วยและอาหารแห้งไปยังจุดที่ปลอดภัย และทำตามคู่มือที่ได้จัดทำขึ้น
ตำบลนางพญา แม้จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้อยมากในอดีต แต่ทุกคนก็ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท วันนี้เราจึงเห็นการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติทุกรูปแบบ และโครงการ "น้ำพร้า-นางพญา อาสาต้านภัยพิบัติ" เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของทุกคนที่ร่วมกันปกป้องชุมชนให้พ้นภัยพิบัติอย่างยั่งยืน