ศงป.แนะแก้ NPL รอบ 2 หลีกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ข่าวทั่วไป Monday September 11, 2000 15:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--ศงป.
ศงป.แนะแนวทางแก้ไขปัญหากลุ่มหนี้ที่เป็น NPL รอบ 2 เจ้าหนี้และลูกหนี้ควรหันหน้าเข้าหากัน และยอมรับความจริง ชี้ควรแก้ปัญหาให้จบในคราวเดียว หลีกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้าน ศงป.มีผู้มาขอคำปรึกษาเรื่องหนี้ NPL กว่า 5,200 ราย วงเงินกว่า 52,500 ล้านบาท
นายอานันท ไม้พุ่ม กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน (ศงป.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ศงป. รวม 25 ศูนย์ ทั่วประเทศ ในรอบ 11 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542- สิงหาคม 2543 มีผู้เข้ามาขอรับการปรึกษา ทั้งสิ้นประมาณ 18,800 ราย วงเงินที่ปรึกษารวมประมาณ 72,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็น SMEs ร้อยละ 48 และเป็นบุคคลธรรมดาร้อยละ 52 โดยแบ่งเป็นปรึกษาเรื่องการหาแหล่งเงิน ร้อยละ 40 ปรึกษาเรื่อง NPL ร้อยละ 26 และปรึกษาเรื่องธุรกิจ และเรื่องอื่น ๆ จนพอใจ ร้อยละ 34
โดยมีผู้มาขอคำปรึกษาเรื่องหนี้ NPL ทั้งหมดประมาณ 5,200 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 52,500 ล้านบาท สามารถจบให้คำปรึกษาไปแล้ว 1,990 ราย วงเงินประมาณ 13,200 ล้านบาท สามารถประนอมหนี้ได้ 1,270 ราย หรือร้อยละ 64 คิดเป็นวงเงินประมาณ 7,140 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ ศงป. มีความพอใจในระดับหนึ่งสำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL และประนอมหนี้ได้สำเร็จ
สำหรับกลุ่มผู้มาขอคำปรึกษาจาก ศงป. เรื่องหนี้ NPL บางส่วนก็เป็นลูกหนี้ที่มั่นใจว่าจะต้องเป็น NPL รอบ2 แน่นอน โดยสาเหตุหนึ่งของการเป็น NPL รอบ 2 นั้นเกิดจากลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามสัญญาที่ทำไว้กับสถาบันการเงินหลังจากปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในรอบแรก เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขจึงเป็นเหตุให้เกิด NPL รอบ 2 หรืออีกสาเหตุหนึ่ง คือ เป็นผลจากการที่สถาบันการเงินผ่อนผันให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในอัตราที่ต่ำแต่ก็เป็นระยะสั้นเพียง 1 ปี แต่เมื่อหลังจาก 1 ปี ลูกหนี้ต้องชำระเงินแบบเดิม ซึ่งลูกหนี้ก็ไม่มีเงินพอที่จะสามารถชำระหนี้ได้เมื่อถึงตอนนั้น จุดนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด NPL รอบ 2 เช่นกัน
กรรมการผู้อำนวยการ ศงป. ให้ความเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกลุ่มลูกหนี้ ที่เป็น NPL รอบ 2 คือ ฝ่ายลูกหนี้ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้แก่สถาบันการเงินซึ่งควรจะทำเป็นรูปงบกระแสเงินสดทั้งระยะสั้นและระยะยาว และทั้งสองฝ่าย คือ สถาบันการเงิน และลูกหนี้ ควรหันหน้าเข้าหากัน ยอมรับความจริงและช่วยกันแก้ปัญหา ด้าน ศงป. ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับสถาบันการเงิน เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
"การปรับโครงสร้างหนี้ต้องเปิดใจทั้งสองฝ่าย และยอมรับปัญหาซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมาอาจจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของบางสถาบันการเงิน คือ เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ในความเป็นจริงควรแก้ปัญหาให้จบในคราวเดียว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและข้อจำกัดของสถาบันการเงินนั้น ๆ ว่ามีมาตรการอย่างไรกับการแก้ปัญหานี้"--จบ--
-อน-

แท็ก วรห  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ