กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนตุลาคม 2558 จำนวน 1,203 ราย ครอบคลุม 44 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 32.6, 36.5 และ 30.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 42.3, 14.2, 12.8, 12.7 และ18.0 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.4 และ19.6 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.8 ในเดือนกันยายน ซึ่งค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากการสำรวจพบว่า ยอดขายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าไม่คงทน เนื่องจากในช่วงท้ายปี ผู้ประกอบการต่างจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ รวมทั้งยังได้รับผลดีจากการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ผู้ประกอบการมีความเห็นว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซี่งสามารถสะท้อนได้จากค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 103.4 เพิ่มขึ้นจาก 102.6 ในเดือนกันยายน โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนตุลาคม2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมทุกขนาด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 77.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 73.1 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยา, อุตสาหกรรมสมุนไพร และหัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.6 เพิ่มขึ้นจาก 99.3 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 83.2 เพิ่มขึ้นจาก 81.7 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 103.8 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 94.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.9 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมอลูมิเนียม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.7เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.5 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนตุลาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนกันยายน
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 86.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 84.8 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (เนื่องจากไก่สดแช่แข็งและเนื้อสุกรแปรรูป เช่น แฮม ไส้กรอก มียอดการส่งออกไปประเทศในเอเชีย สหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มขึ้น ขณะที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น นมถั่วเหลือง น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง มีคำสั่งซื้อในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (มีคำสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมเครื่องจักรในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับปรุงและเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต) อุตสาหกรรมหล่อโลหะ (มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมประเภท เหล็กหล่อสำหรับผลิตเป็นเครื่องมือทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์)
ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า (ผลิตภัณฑ์ประเภทพื้นรองเท้า รองเท้าหนัง มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น ยุโรป ลดลง เนื่องจากลูกค้ายังมีสินค้าอยู่ในสต็อกปริมาณสูง ขณะที่ยอดขายรองเท้าแตะ และรองเท้ากีฬาในประเทศลดลง) สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.8 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 83.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 81.7 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร (สมุนไพรที่ใช้สำหรับสปา และสบู่สมุนไพร มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการจัดงานส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดแถบอเมริกาและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเนื่องจากสมุนไพรไทยเป็นที่นิยม) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ผลิตภัณฑ์กระดาษมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์กระดาษสา และกระดาษแข็ง มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐ และฮ่องกง) อุตสาหกรรมเซรามิก (สุขภัณฑ์ตกแต่งบ้าน และห้องน้ำ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากโรงแรมและรีสอร์ท เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาล, สินค้าที่ระลึกประเภทเซรามิกมียอดส่งออกไปประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น และยุโรปเพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ผ้าดิบ มียอดการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และจีนลดลง เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตไปอยู่เวียดนาม และกัมพูชา ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาทำให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.8 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 83.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 75.5 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ (ผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษลูกฟูก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น, ขณะที่ยอดสั่งพิมพ์โบชัวร์, ใบปลิว และปฏิทิน เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงปลายปี) อุตสาหกรรมน้ำตาล (ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และมีการส่งอออกไปยังประเทศกลุ่ม CLMVเพิ่มขึ้น) หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภทของที่ระลึก งานจักสาน มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นฤดูท่องเที่ยวทำให้ยอดขายของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ OTOP เพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตร มียอดขายลดลงจากกำลังซื้อที่ลดลงในภาคเกษตร ขณะที่ผู้ประกอบการมีสินค้าค้างสต็อกปริมาณสูง) อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.3 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 92.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.3 ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก (บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ประเภทขวดพลาสติก, ถุงพลาสติก มียอดสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ มียอดคำสั่งซื้อและผลิตเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่ม CLMV, อุตสาหกรรมเคมี (สารเคมีประเภทโทลูอีน และไซลีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสี ทินเนอร์ เส้นใย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น, ผลิตภัณฑ์คลอรีนและโซดาไฟ มีคำสั่งซื้อและยอดขายทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติกมียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น, ผลิตภัณฑ์พื้นฐาน ได้แก่ เบนซีน และพาราไซลีน มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศในอาเซียน) ขณะที่ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่มีค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก (ผลิตภัณฑ์เหล็กรีดร้อน เหล็กเส้น มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ลดลงและธุรกิจมีการแข่งขันสูงขณะที่สินค้าคงคลังยังมีปริมาณสูง) สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.6 เพิ่มขึ้นจาก 101.5 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 76.3 ลดลงจากระดับ 79.5 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ส่วนอุตสาหกรรมในภาคใต้ ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ยอดการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ ลดลงจากประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (คำสั่งซื้อในประเทศลดลง ประกอบกับราคาผลปาล์มดิบลดลง) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (คำสั่งซื้อไม้ยางพาราแปรรูปลดลง เนื่องจากตลาดหลักอย่างจีนชะลอการสั่งซื้อ ประกอบกับต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการลดกำลังการผลิตลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.6 ลดลงจากระดับ 103.6 ในเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนตุลาคม 2558 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนกันยายน
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 83.1 ปรับตัวเพิ่มจากระดับ 81.0 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และ ผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล, อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์, อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือ และก่อสร้างงานเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.7 ในเดือนกันยายน ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 91.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 90.2 ในเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ รวมถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 107.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.6 ในเดือนกันยายน ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการและผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนตุลาคม คือ ต้องการให้ภาครัฐเพิ่มวงเงินสินเชื่อแก่ SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ส่วนด้านการลงทุนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อเปิดตลาดใหม่และสร้างโอกาสในการแข่งขัน ด้านแรงงาน ต้องการให้มีการส่งเสริมการพัฒนาทักษะและศักยภาพแรงงงานไทย ทั้งสายวิทยาศาสตร์ และสายอาชีวศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงอยากให้เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด้วย...