กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--ตลาดหลักทรัพย์
ภาครัฐและเอกชนขานรับแนวคิดกำกับดูแลกิจการที่ดี เน้นให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมต้องนำไปปฎิบัติจริง โดยมีมาตรการเชิงกฎหมายรองรับเพื่อให้เกิดผลในวงกว้างเป็นพื้นฐาน พร้อมแนวทางปฎิบัติโดยสมัครใจเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในมาตรฐานที่สูงขึ้น และแรงผลักดันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตลาดหลักทรัพย์เตรียมผลักดันให้บริษัทจดทะเบียน "นำร่อง" โดยนำหลักการและข้อพึงปฎิบัติเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปปฎิบัติ พร้อมกิจกรรมส่งเสริมบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และพัฒนาความรู้แก่กรรมการโดยสถาบันกรรมการบริษัท เน้นทุกองค์กรได้รับประโยชน์เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารงาน และความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อภาคธุรกิจ ตลาดทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวรายงานในการสัมมนา "การกำกับดูแลกิจการที่ดี : กลไกความสำเร็จของธุรกิจยุคใหม่" จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยในวันนี้ (22 มีนาคม 2543 ) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย เป็นประธานเปิดการสัมมนาว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ขององค์กรและมีความสำคัญในการเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานและเพิ่มความน่าเชื่อถือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน การผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างจริงจังในระดับประเทศ และ องค์กรมีแนวปฎิบัติที่ชัดเจนจะช่วยให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศดำเนินไปได้รวดเร็วขึ้น และเสริมสร้างให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตอย่างยั่งยืน
"สำหรับบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนพัฒนาระบบกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้นภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงาน มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และมีการดำเนินงานที่ซื่อสัตย์ยุติธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย องค์ประกอบสำคัญเหล่านี้จะส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนมีความน่าเชื่อถือ การระดมทุนจากผู้ลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการของบริษัทเป็นไปได้ง่ายขึ้น และสนับสนุนให้ผู้ลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและตลาดทุนไทยมากยิ่งขึ้น" นายวิชรัตน์กล่าว
มาตรการสำคัญบางประการที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ดำเนินการในปี 2542 ได้แก่ การสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายในเดือนธันวาคม 2542 สนับสนุนการจัดตั้ง "สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย" หรือ IOD เพื่อจัดกิจกรรมเสริมสร้างให้กรรมการบริษัท ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดระบบกำกับดูแลกิจการที่ดีภายในองค์กร ให้ตระหนักในบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของตน และเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาทักษะความชำนาญของกรรมการบริษัท นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยังได้จัดตั้ง "คณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาระบบกำกับดูแลกิจการที่ดี" ซึ่งมีนายชวลิต ธนะชานันท์เป็นประธาน ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนเพื่อยกร่างรายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นแนวทางให้บริษัทจดทะเบียน บริษัททั่วไป องค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบกำกับดูแลกิจการที่ดี
นายวิชรัตน์ กล่าวว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้ยกร่างรายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดีฉบับสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยเนื้อหาในส่วนที่เป็น "หลักการ" (Principles) ซี่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่บริษัทต้องมุ่งให้บรรลุถึงเพื่อให้เกิดระบบกำกับดูแลกิจการที่ดี และ "ข้อพึงปฎิบัติ" (Code of Best Practices) ที่บอกวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ๆ โดยคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้ให้ความเห็นชอบและรับเป็นนโยบายที่จะส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน "นำร่อง" ด้วยการนำ "หลักการและข้อพึงปฎิบัติ" ดังกล่าวไปทดลองปฎิบัติโดยสมัครใจเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนได้ทำความเข้าใจและมีเวลาเตรียมความพร้อม ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการปฎิบัติจริงมาพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาและกำหนดแนวทางที่เหมาะสมสำหรับบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดต่อไป
นายชวลิต ธนะชานันท์ ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาระบบกำกับดูแลกิจการที่ดี รายงานว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้ ยกร่าง "หลักการและข้อพึงปฎิบัติเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี" โดยยึดพื้นฐานสำคัญของภาวะผู้นำ 4 ประการ คือ ความโปร่งใส (Transparency) ความซื่อสัตย์ (Integrity) ความรับผิดชอบต่อผลการปฎิบัติหน้าที่ (Accountability) และความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ครอบคลุมเนื้อหาสำคัญ 6 หมวด ได้แก่ 1) บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการ 2) การรายงานทางการเงินและการตรวจสอบ 3) การเปิดเผยสารสนเทศและความโปร่งใส 4) สิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นและบทบาทของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจริยธรรทางธุรกิจและจรรยาบรรณ 6) การปฎิบัติตามข้อพึงปฎิบัติ
นายชวลิต รายงานว่า "หลักการและข้อพึงปฎิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี" ประกอบด้วยรายละเอียดที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ได้แก่ คณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ ผู้ถือหุ้น และ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น พนักงาน คู่ค้า และสังคมโดยรวม โดยกำหนดความรับผิดชอบอย่างชัดเจนว่า ใครควรทำอะไร เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะเป็นประโยชน์แก่กิจการและผู้เกี่ยวข้องในระยะยาว คือ เสริมสร้างความมั่งคั่งและขีดความสามารถแก่ธุรกิจ เพิ่มมูลค่าเงินลงทุนแก่ผู้ถือหุ้น มีความโปร่งใสยุติธรรมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ได้รับความเชื่อถือและมีภาพลักษณ์ดีในสายตาของสังคม
"นอกเหนือจากการศึกษามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการในต่างประเทศเป็นกรอบอ้างอิงแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ยังคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ วัฒนธรรม และโครงสร้างการประกอบธุรกิจในประเทศไทยประกอบในการยกร่างรายงานกำกับดูแลกิจการที่ดีฉบับนี้ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าหลักการและข้อพึงปฎิบัติที่ร่างขึ้นได้มาตรฐานสากล มีความคล่องตัวที่จะนำไปใช้ปฎิบัติได้จริงภายใต้สภาพแวดล้อมภายในประเทศ มีรายละเอียดที่ไม่ซ้ำซ้อนกับข้อกฎหมายหรือระเบียบปฎิบัติของสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว และสามารถนำไปใช้ได้ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็กโดยไม่สับสน" นายชวลิตกล่าว
นายชวลิตเปิดเผยว่าเพื่อให้กรรมการบริษัทและผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ซึ่งอาจมีสภาพแวดล้อมและความพร้อมแตกต่างกัน ได้ใช้ดุลยพินิจอย่างเหมาะสมในการนำข้อพึงปฎิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปใช้ คณะอนุกรรมการฯ ได้วางแนวทางการปฎิบัติตามข้อพึงปฎิบัติไว้เป็น 3 ระดับ คือ สิ่งที่ควรทำ (Should Do) เป็นข้อปฎิบัติที่บริษัทควรจัดให้มีขึ้นเพื่อบรรลุหลักการที่ตั้งไว้ และรายงานในรายงานประจำปีหากมิได้มีการปฎิบัติตาม สิ่งที่น่าจะทำ (Might Do) เป็นสิ่งที่บริษัทควรคำนึงถึงและนำมาพิจารณาเมื่อมีความพร้อมบนพื้นฐานความสมัครใจหรือความเชื่อของตน และ ข้อเสนอแนะ (Suggestion) ซึ่งเป็นแนวทางเสริมที่เสนอเป็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือบริษัทเอง หากปฎิบัติแล้วจะทำให้การกำกับดูแลกิจการสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวในการสัมมนาเดียวกันว่าแนวทางยกระดับเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีจำเป็นต้องมีแรงผลักดันมาจากทุก ๆ ด้าน ทั้งในส่วนที่เป็นมาตรการทางตรง ซึ่งประกอบด้วยการบังคับเชิงกฎหมายซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานขั้นต่ำและมีผลครอบคลุมในวงกว้าง ประกอบกับแนวทางปฎิบัติตามด้วยความสมัครใจตามที่ตลาดหลักทรัพย์และคณะอนุกรรมการฯ นำเสนอ และการส่งเสริมให้คณะกรรมการตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนในแนวทางที่สถาบันกรรมการบริษัทจะเริ่มดำเนินการเพื่อเสริมสร้าง Corporate Governance ในระดับที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด และ มาตรการทางอ้อม ได้แก่ แรงผลักดันจากผู้ลงทุน และสถาบันการเงินที่ต้องเน้นให้กิจการที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียมีการพัฒนาระบบกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างจริงจัง
นายชาญชัย จารุวัสตร์ ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อพัฒนากรรมการบริษัทให้มีความรู้ความสามารถในการกำกับดูแลกิจการที่ดีว่า สมาคมได้ร่วมมือกับ Australian Institute of Company Directors (AICD) ซึ่งมีชื่อเสียงและประสบการณ์ด้านนี้มากว่า 15 ปี จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมแก่สมาชิก เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ศกนี้เป็นต้นไป ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรที่ออกโดยสมาคมฯ และ AICD ร่วมกันซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการสัมมนาให้ความรู้ในหัวข้อที่เป็นที่สนใจของสมาชิกเฉลี่ยเดือนละ 1 เรื่อง อาทิเช่น ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับบริษัท AIG New Hampshire Insurance Company เสนอแผนคุ้มครองส่วนบุคคลแก่สมาชิกของสมาคมที่เป็นกรรมการบริษัทในกรณีความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำรงตำแหน่ง
"สมาคมได้เริ่มเผยแพร่กิจกรรมเหล่านี้ออกไปสู่กลุ่มเป้าหมายและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สมาคมฯ คาดว่าจะมีผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกประเภทบุคคลและสมาชิกสมทบในปีแรกนี้ประมาณหนึ่งร้อยกว่าคน และ สมาชิกประเภทนิติบุคคลคาดว่าจะมีเกินกว่า 100 บริษัทในปีแรกนี้" นายชาญชัยเปิดเผยในท้ายที่สุด--จบ--