กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับชาติ ปี 2558/59 (ศก.กช.) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับชาติ ปี 2558/59 (ศก.กช.) เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมาโดยได้ติดตามสถานการณ์น้ำและความก้าวหน้าการดำเนินงานตามโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ 13 หน่วยงานในการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากวิกฤตปัญหาภัยแล้ง ล่าสุด ศก.กช.ได้มีหนังสือขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการ ศก.กจ.(ระดับจังหวัด) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1) ขอให้เร่งรัดการทำงานของชุดปฏิบัติการในการลงพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร พร้อมทั้งรายงานผลการตอบรับหรือการให้ความร่วมมือของเกษตรกรต่อแนวทางการแก้ไข
2) ขอให้ติดตามและวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และสถานการณ์การเพาะปลูกข้าว รวมทั้งปัญหาและแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งรายงานให้ ศก.กช. ทราบ
3) ขอให้ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2558/59 ของกรมชลประทาน
4) ขอให้ประสานข้อมูลจากโครงการชลประทานจังหวัด เพื่อเตรียมการเฝ้าระวังพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ที่มีการเก็บเกี่ยวแล้วในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด โดยให้ชุดปฏิบัติการฯ ลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้และขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว ให้มีการใช้น้ำจากระบบชลประทานน้อยที่สุด โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีแนวโน้มจะปลูกข้าวต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2558/59
และ 5) ขอให้ประสานข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อติดตามผลการสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการตามแผนชุมชน เพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้งด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ และด้านปรับปรุงบำรุงดิน ตามมาตรการที่ 1 การส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ภายใต้โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59
"ขอให้เกษตรกรพิจารณาเรื่องการเพาะปลูกข้าวในสภาวะที่มีความเสี่ยงเรื่องน้ำ และอาจปรับเปลี่ยนมาเป็นการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่สามารถสร้างมูลค่าสูงแทน หรือการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ และการประมงตามแหล่งน้ำที่ได้เตรียมไว้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง ความเสียหายของพืชผล จากภาวะขาดแคลนน้ำในปี 2559 ได้นอกจากนี้ทุกส่วนราชการได้เร่งปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรอย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง อาทิ การจ้างแรงงาน และสนับสนุนปัจจัยการผลิตอื่น ๆ เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ และให้เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน" นายธีรภัทร กล่าว