กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าต่อเนื่องในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นปัจจัยต้นทางและพื้นฐานของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ล่าสุดปี 2558 ซีพีเอฟได้รับ 5 รางวัลด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำองค์กรที่มุ่งดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด "ธุรกิจสีเขียว" (Green Business) เพื่อร่วมบรรเทาผลกระทบเชิงลบ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟวางยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่" โดยในปี 2558 ซีพีเอฟได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ และภาคประชาคมในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
จากความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทำให้ในปี 2558 ซีพีเอฟได้รับ "รางวัล Thailand Sustainability Investment" จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในงาน SET Sustainability Awards 2015 ตอกย้ำองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมอบรางวัล "โครงการส่งเสริมศักยภาพโรงงานมุ่งสู่การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน หรือ CSR-DIW Awards 2015" ประเภท CSR-DIW Award และประเภท CSR-DIW Continuous Awards ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แก่สถานประกอบการซีพีเอฟ 30 แห่ง
สำหรับการดำเนินโครงการ"ซีพีเอฟปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน" ซึ่งได้รับ "รางวัล Thailand PES Award 2015" จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) จากการนำหลักการ PES หรือ Payment for Ecosystem Services คือ การตอบแทนคุณระบบนิเวศ มาเป็นแนวทางปฏิบัติ ในพื้นที่ตำบลชุมโค จังหวัดชุมพร ซึ่งประเทศไทยมีป่าชายเลนที่เป็นระบบนิเวศชายเลนที่ใหญ่ การปลูกป่าชายเลนจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ซีพีเอฟยังได้รับ "ประกาศนียบัตรโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS)" จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายในงาน "ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน" ประจำปี 2558 ผ่านการดำเนิน "โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ" ซึ่งถือเป็นโครงการที่ผู้บริหารและพนักงานของซีพีเอฟร่วมกันปลูกต้นไม้ภายในและรอบรั้วสถานประกอบการ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว ผลปรากฎว่า สถานประกอบการซีพีเอฟ54 แห่ง ได้รับมอบประกาศนียบัตร โดยต้นไม้ที่ปลูกสามารถกักเก็บ CO2 ได้ 18,017 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อาทิ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ปักธงชัย จ.นครราชสีมา จากกิจกรรม กักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ ฟาร์มพนัสนิคม จ.ชลบุรี จากกิจกรรมปลูกต้นไม้ของฟาร์มพนัสนิคม ฟาร์มกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร จากกิจกรรม Green Farm ปาล์มกำแพงเพชร ฟาร์มหมอนนาง จ.ชลบุรี ฟาร์มวังทอง จ.พิษณุโลก เป็นต้น
นอกจาการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดังกล่าวแล้ว ซีพีเอฟยังจัดกิจกรรมเพื่อปลูกฝังให้คนในชุมชนมีจิตสำนึกรักษ์และหวงแหนแหล่งน้ำของตน ผ่านการจัด "โครงการนักสืบสายน้ำ" โดยร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล คัดเลือกโรงเรียนรอบรั้วโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ จังหวัดนครราชสีมา นำเยาวชนมาเรียนรู้และช่วยกันเฝ้าระวังรักษาลำน้ำมูล ผ่านการสอนการวัดคุณภาพน้ำ ถือเป็นการจุดประกายและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบ"รางวัลการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำดีเยี่ยม ประจำปี 2558" แก่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ จังหวัดนครราชสีมา ภายในงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ "อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์รักษ์แม่น้ำ"
ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งดิน น้ำ และป่า เพราะทุกอย่างจะส่งผลถึงต้นทางทั้งหมด โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาคีเครือข่าย ภาครัฐ และภาคประชาคมในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศให้คงความสมบูรณ์