กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--NBTC Rights
โดย ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่แข่งขันประมูลกันอย่างเข้มข้น หลายคนสงสัยว่าราคาชนะประมูลในระดับแปดหมื่นล้านบาทนั้น จะทำให้อัตราค่าบริการ 4G แพงขึ้นหรือไม่ และทำไมก่อนเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz บางค่ายก็โฆษณาบริการ 4G แล้ว สิ่งที่โฆษณานั้น ตกลงเป็น 4G แท้หรือ 4G เทียม
แรกสุดต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หลักการประมูลของ กสทช. ในครั้งนี้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "การประมูล 4G" เป็นเรื่องของการประมูลสิทธิในคลื่นความถี่ 1800 MHz มิใช่การประมูลสิทธิในเทคโนโลยี 4G เพียงแต่ กสทช. มุ่งหมายที่จะให้ผู้ชนะประมูลให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน นั่นคือ 4G และเมื่อไรที่ยุค 5G มาถึง ผู้ชนะประมูลก็สามารถปรับปรุงบริการเป็น 5G ได้บนสิทธิในคลื่นความถี่ของตน โดยไม่ต้องประมูลกันใหม่แต่อย่างใด
หลักการเดียวกันนี้ใช้มาตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า "การประมูล 3G" ดังนั้นแม้ผู้ชนะการประมูลครั้งนั้นเริ่มเปิดให้บริการในระบบ 3G แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าจนสามารถให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ได้ ผู้ประกอบการบางรายจึงปรับปรุงบริการบนคลื่นความถี่ย่านนี้ให้เป็น 4G สิ่งที่โฆษณาจึงมิใช่บริการ 4G เทียมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้ให้บริการบางรายซึ่งยังคงเหลือสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz สำหรับให้บริการ 2G ก็ได้ขอปรับปรุงบริการเป็น 4G เช่นกัน แต่เป็นชุดคลื่นความถี่ 1800 MHz คนละชุดกับที่เพิ่งประมูลเสร็จสิ้นไป ประเทศไทยจึงมี 4G บนคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และ 2100 MHz อยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด "การประมูล 4G"
ด้วยเหตุที่มีการให้บริการ 4G ในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้เกิดแพ็กเกจ 4G หลายแพ็กเกจซึ่งมีสิทธิประโยชน์และอัตราค่าบริการต่างๆ กันไป และด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี 4G ซึ่งรับส่งข้อมูลปริมาณมากๆ ได้ดีกว่า 3G ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง เราจึงพบว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการ 4G ถูกกว่าบริการ 3G อยู่แล้ว ดังนั้น หากผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะกำหนดอัตราค่าบริการที่แพงกว่า 4G ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด ผู้บริโภคก็ย่อมจะไม่เลือกใช้บริการราคาแพงนั้น ในขณะนี้เราจึงมีกลไกตลาดเป็นปัจจัยสำคัญในการคุมมิให้อัตราค่าบริการแพงขึ้น ยิ่งถ้าบริการ 4G เดิมในท้องตลาดลดราคา ยิ่งจะเป็นการกดดันให้บริการ 4G ใหม่ไม่สามารถตั้งราคาแพงได้ตามอำเภอใจ
หลายคนอาจยังเชื่อว่า ผู้ชนะการประมูลน่าจะต้องผลักภาระต้นทุนค่าคลื่นความถี่มาให้ผู้บริโภคแบกรับ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ แต่ในทางเศรษฐศาสตร์จะพบว่า ต้นทุนแต่ละประเภทมีความยากง่ายในการผลักภาระให้ผู้บริโภคแบกรับได้แตกต่างกัน ต้นทุนที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ยากคือต้นทุนจม ยกตัวอย่างเช่น ค่าเซ้งอาคาร หากมีร้านขายผลไม้ร้านที่หนึ่งเซ้งอาคารมาเจ็ดแสนบาท และร้านขายผลไม้ติดๆ กันเซ้งอาคารมาหนึ่งล้านบาท เราจะพบว่าราคาผลไม้เกรดเดียวกันของทั้งสองร้านจะไม่แตกต่างกันตามค่าเซ้งที่แพงหรือถูก เพราะหากร้านที่สองขายผลไม้เกรดเดียวกันในราคาแพงกว่า ผู้บริโภคย่อมจะพากันไปซื้อผลไม้จากร้านที่หนึ่ง การผลักภาระค่าเซ้งอาคารมาให้ผู้บริโภคจึงทำไม่ได้ง่ายๆ และเนื่องจากต้นทุนจมเป็นรายจ่ายที่จ่ายขาดไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับไปลดต้นทุนนั้นลงได้ กลยุทธ์ที่ร้านที่สองจะอยู่รอดคือการขายผลไม้ในราคาที่แข่งขันได้กับร้านที่หนึ่ง เพื่อให้มีรายรับเข้าร้าน ในขณะเดียวกันต้องลดต้นทุนในส่วนที่ลดได้ ซึ่งก็คือรายจ่ายในการดำเนินการในแต่ละวัน มิใช่ใช้กลยุทธ์ขายผลไม้เกรดเดียวกันแพงกว่าร้านคู่แข่งด้วยเหตุว่าเซ้งอาคารมาแพงกว่าแต่อย่างใด
เงินชนะประมูลคลื่นความถี่ก็เปรียบได้กับค่าเซ้งสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายรู้ดีว่า เมื่อจ่ายไปแล้วก็เป็นการจ่ายขาด ไม่สามารถขอคืนหรือขอลดได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ และรู้อยู่ก่อนแล้วว่า หากตนเองกำหนดอัตราค่าบริการ 4G แพง ผู้บริโภคก็จะเลือกซื้อบริการ 4G ของรายอื่น ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายจึงได้คำนวณเพดานราคาของคลื่นความถี่ที่ตนจะประมูลไว้ก่อนวันประมูลแล้ว และต่างก็ตระหนักดีว่า ถ้าตนเองชนะประมูลในราคาที่สูงกว่าเพดานราคาที่คำนวณล่วงหน้า กิจการก็จะไม่สามารถทำกำไรได้
ยิ่งไปกว่านั้น เพดานราคาของคลื่นความถี่ที่ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายคำนวณขึ้นมาย่อมแตกต่างกันตามศักยภาพทางธุรกิจของแต่ละราย เช่น ปริมาณทรัพย์สิน-หนี้สิน จำนวนผู้ใช้บริการและโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่เดิม โมเดลทางธุรกิจที่จะให้บริการ และความสามารถในการสร้างรายได้หรือทำกำไรจากโมเดลธุรกิจนั้นๆ เป็นต้น และเนื่องจากเทคโนโลยีและบริการ 4G เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ตัวเทคโนโลยีมีความเสถียร มีอุปกรณ์โครงข่ายและตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมวางจำหน่าย อีกทั้งมีโมเดลธุรกิจ 4G ในต่างประเทศให้ศึกษา การคำนวณเพดานราคาประมูลคลื่นความถี่ในปัจจุบันจึงมีความแม่นยำค่อนข้างสูง ราคาชนะประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เป็นไปตามการคำนวณในครั้งนี้ จึงไม่อาจทำให้อัตราค่าบริการ 4G แพงขึ้นตามที่หลายคนกังวล
แต่ที่สำคัญที่สุด คือการที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยในประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนที่ กสทช. จะกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล คือทำอย่างไรให้ผู้ใช้บริการไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และให้กำหนดค่าใช้บริการไว้ล่วงหน้า ซึ่งทาง กสทช. เองได้รับข้อห่วงใยนี้มากำหนดไว้ในหลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้แล้ว โดยกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องให้บริการที่มีคุณภาพ และต้องกำหนดอัตราค่าบริการทั้งบริการเสียงและบริการข้อมูลเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz และต้องจัดให้มีแพ็กเกจราคาถูกอย่างน้อย 1 รายการ ที่ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการได้ และต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงด้วย
สรุปง่ายๆ คือ ต้องมีแพ็กเกจที่คุณภาพไม่ต่ำกว่าเดิมในราคาที่ถูกลง โดยห้ามบังคับซื้อเหมา โทรเท่าใด ใช้เน็ตเท่าใด ก็จ่ายเท่านั้น ไม่ใช่ถูกบังคับให้ซื้อค่าโทรเดือนละร้อยนาที หรือค่าเน็ตเดือนละหนึ่งกิกะไบต์ ทั้งที่ผู้บริโภคหลายคนใช้นาทีหรือใช้เน็ตไม่หมดในแต่ละรอบบิล กลายเป็นการซื้อแบบเสียของไป แต่ยิ่งทำกำไรให้กับผู้ให้บริการ
และหากในอนาคตมีผู้ให้บริการรายใหม่แจ้งเกิดในตลาด 4G ได้จริง เราอาจจะเห็นอัตราค่าบริการที่ถูกลงอย่างชัดเจน เหมือนกับตอนที่ทีโอทีเปิดบริการ 3G เมื่อปลายปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเดิมอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของแต่ละค่ายตกอยู่ที่ 12 สตางค์ต่อกิโลไบต์หรือประมาณ 122 บาทต่อเมกะไบต์ แต่ทีโอที 3G กำหนดอัตราค่าบริการเพียง 2 บาทต่อเมกะไบต์ ลดลงจากเดิมกว่า 60 เท่า ทำให้ค่ายอื่นๆ ต้องลดราคาลงมาสู้ในระดับเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเพิ่มการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นกลไกกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่ได้ผลดีที่สุด