กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การปฏิรูปประเทศ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,284 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้น ในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ในสามลำดับแรก (โดยให้เลือก 3 ประเด็นที่สำคัญเร่งด่วนที่สุด) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.17 ระบุว่า ควรปฏิรูปการศึกษา รองลงมา ร้อยละ 52.49 ระบุว่า ควรปฏิรูปการเมือง ร้อยละ 38.32 ระบุว่า ควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 36.21 ระบุว่า ควรปฏิรูปตำรวจ ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ควรปฏิรูประบบราชการ ร้อยละ 15.03 ระบุว่า ควรปฏิรูป ความเหลื่อมล้ำ ร้อยละ 13.40 ระบุว่า ควรปฏิรูปสาธารณสุข ร้อยละ 11.45 ระบุว่า ควรปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 5.45 ระบุว่า ควรปฏิรูปพลังงาน ร้อยละ 2.73 ระบุว่า ควรปฏิรูปสื่อสารมวลชน ร้อยละ 12.07 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ การเกษตร เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน เยาวชน แรงงาน การก่อการร้ายและความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดน การคมนาคมขนส่ง และระบบสาธารณูปโภค และร้อยละ 21.03 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปการศึกษาในประเด็นต่าง ๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.13 ระบุว่า ควรปฏิรูปครู รองลงมา ร้อยละ 22.59 ระบุว่า ควรปฏิรูปหลักสูตร ร้อยละ 17.76 ระบุว่า ควรปฏิรูปสื่อการเรียนการสอน ร้อยละ 16.28 ระบุว่า ควรปฏิรูปความประพฤติของนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 11.91 ระบุว่า ควรปฏิรูปการจัดการศึกษา ร้อยละ 1.01 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ แหล่งทุนการศึกษา สวัสดิการครู สิทธิและเสรีภาพของนักเรียน และผู้บริหารขั้นสูง และร้อยละ 1.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปตำรวจในประเด็นต่าง ๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.59 ระบุว่า ควรปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย รองลงมา ร้อยละ 19.24 ระบุว่า ควรปฏิรูปการกระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจ ร้อยละ 18.07 ระบุว่า ควรปฏิรูปการสืบสวนสอบสวน ร้อยละ 11.99 ระบุว่า ควรปฏิรูปการเข้าสู่ตำแหน่ง ร้อยละ 3.82 ระบุว่า ควรปฏิรูปเงินเดือนสวัสดิการตำรวจ ร้อยละ 0.23 ระบุว่า ดีอยู่แล้ว ยังไม่ต้องปฏิรูป ร้อยละ 5.22 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ การประพฤติและใช้อำนาจมิชอบในหน้าที่ การใส่ใจในการปฏิบัติหน้าที่และการบริการประชาชน และร้อยละ 5.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปการเมืองในประเด็นต่าง ๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.08 ระบุว่า ควรปฏิรูปคุณภาพของนักการเมือง รองลงมา ร้อยละ 24.77 ระบุว่า ควรปฏิรูปการเลือกตั้ง ร้อยละ 15.03 ระบุว่า ควรปฏิรูปการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ร้อยละ 6.54 ระบุว่า ควรปฏิรูปพรรคการเมือง ร้อยละ 4.36 ระบุว่า ควรปฏิรูปการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 1.09 ระบุว่า ควรปฏิรูปการทุจริต คอร์รัปชัน ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ดีอยู่แล้ว ยังไม่ต้องปฏิรูป และร้อยละ 4.05 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูประบบราชการในประเด็นต่าง ๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.08 ระบุว่า ควรปฏิรูปการทุจริตประพฤติมิชอบ รองลงมา ร้อยละ 26.17 ระบุว่า ควรปฏิรูปการบริการประชาชน ร้อยละ 12.38 ระบุว่า ควรปฏิรูปการซื้อขายตำแหน่ง ร้อยละ 5.22 ระบุว่า ควรปฏิรูประบบงบประมาณ ร้อยละ 3.43 ระบุว่า ควรปฏิรูปเงินเดือนสวัสดิการ ร้อยละ 0.23 ระบุว่า ดีอยู่แล้ว ยังไม่ต้องปฏิรูป ร้อยละ 0.86 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ โครงสร้างของตำแหน่งที่มีความเหลื่อมล้ำกัน และคุณภาพของข้าราชการ และร้อยละ 1.63 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.57 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 28.66 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.68 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.48 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 12.62 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 55.84 เป็นเพศชาย และร้อยละ 44.16 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 7.32 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 18.22 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.77 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 36.06 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 12.62 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.01 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 94.70 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.96 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.86 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 1.48 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 23.60 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 72.43 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 2.49 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.48 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่าง ร้อยละ 25.62 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.05 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.17 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 29.91 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.07 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.18 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 14.10 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.63 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 24.84 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.80 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.95 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 13.24 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.57 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.87 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 12.77 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 ร้อยละ 31.39 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 ร้อยละ 13.71 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.31 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 8.18 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 7.17 ไม่ระบุรายได้