กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--หอการค้าไทย
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง ภาพรวมการจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 33 ว่า ในปีนี้ใช้แนวคิดในการจัดว่า "นวัตกรรม นำไทย สู่ความเป็นเลิศ" โดยได้มีการนำเสนอให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับตัวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลง โดยใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความโดดเด่นและความแตกต่าง ให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว
ดร.เดช เฉิดสุวรรณรักษ์ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) หอการค้าไทย กล่าวว่า การสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศในครั้งนี้ ได้มีการจัดสัมมนากลุ่ม Young Entrepreneur Chamber of Chamber (YEC) ซึ่งเป็นการให้นโยบายในการขับเคลื่อน YEC ในปี 2559 โดยมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 300 คน เข้าร่วมการสัมมนาฯ
สำหรับนโยบายในการขับเคลื่อนกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ปี 2559 ประกอบด้วย
1. ให้ YEC เป็นส่วนหนึ่งของการนำเที่ยว เน้นการใช้กลยุทธ์การท่องเที่ยวในจังหวัดผ่านเครื่องมือออนไลน์
2. ทำงานร่วมกันกับ YEC จังหวัดใกล้เคียง เพื่อขยายเมืองท่องเที่ยวแบบ 1 ทริปหลายจังหวัด อาทิ ไปลำปางแล้วแวะลำพูน หรือ ไปน่านอย่าลืมมาแพร่
3. ใช้หลักการ Capture Value ดึงเอาแก่นคุณค่าจังหวัดของตัวเองออกมา เพื่อสร้างและต่อยอดทางธุรกิจ
4. เริ่ม Focus ไปที่กลุ่ม Aging Society หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่รองรับคนเหล่านี้
นายกลินท์ สารสิน รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มที่ 1 เรื่อง "การสร้างความแตกต่างด้วยบริการเชิงสร้างสรรค์" (Creative service for differentiation) กล่าวว่า ธุรกิจบริการที่เป็นอีกหนึ่งโครงสร้างใหม่ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีแรงงานในธุรกิจนี้ประมาณ 16.88 ล้านราย โดยมีสัดส่วนใน GDP ประมาณ 52% โดยภาคบริการต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้ล้าหลัง เราต้องจะสามารถสร้างความแตกต่าง สร้างเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจากอัตลักษณ์ที่มี เพิ่มมูลค่า และสามารถนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งในการสัมมนาในครั้งนี้ เราได้เน้นธุรกิจบริการใน 3 ธุรกิจ คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจ Health & Wellness และ ธุรกิจ Digital ซึ่งการหารือได้ข้อเสนอว่าควรจะสร้างเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. นอกจากการให้บริการที่ดี (Good Service) แล้ว เราควรต้องมี Creative Service เพิ่ม เพื่อให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่เกินที่ลูกค้าคาดหวัง เต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้น และแนะนำคนมาใช้บริการต่อ
2. Cultural economy โดยสร้างความแตกต่างด้านบริการ อย่างมีคุณค่า มาตรฐาน และเอกลักษณ์ท้องถิ่น (Thainess) เพื่อต่อยอดไปยังธุรกิจต่างๆ ส่งเสริมการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) และสอดคล้องกับ 8 Cluster การท่องเที่ยว โดยมองลูกค้าเป็นหลัก
3. สร้างกลยุทธ์ทางด้าน Marketing และส่งเสริม Branding ที่ประทับใจ ตลอดจน Packaging ที่ตอบสนองการใช้บริการ
4. การประยุกต์ใช้ Digital Content มาใช้ ในการบริการเพื่อสร้างความแตกต่างในการบริการ เช่น การท่องเที่ยว ด้วยการค้นหาข้อมูลเพื่อเตรียมตัวเดินทาง จองเที่ยวบินที่พัก ร้านอาหาร รวมถึงเครื่องช่วยนำทาง รวมถึงด้าน Wellness ซึ่งความต้องการของลูกค้า
ไม่เหมือนกัน ดังนั้นบริการที่ให้แก่ลูกค้าจึงจำเป็นต้องแตกต่าง
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่มที่ 2 เรื่อง "การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม" (Innovation Driven Enterprise) กล่าวว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องไม่ยาก ใกล้ตัว ทุกคนทำได้ อาจเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการปรับรูปแบบธุรกิจ หรือการปรับกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ดีกว่าเดิม ก็นับเป็นนวัตกรรม ปัจจุบันนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญต่อการทำนวัตกรรมมากขึ้นเพื่อให้ทันกระแสโลก
นอกจาก SMEs ธรรมดาทั่วไปจะต้องมีการต่อยอดธุรกิจเดิม โดยนำนวัตกรรมเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้ธุรกิจนั้นสามารถเติบโตและแข่งขันได้แล้ว การพัฒนาผู้ประกอบการรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า IDE (Innovation Driven Entrepreneur) นั้น เป็นแนวทางใหม่ที่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต้องการสร้างองค์ความรู้ ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่จะให้ประเทศไทยได้สร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย
หอการค้าฯ ได้ดำเนินการเพิ่อส่งเสริมผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนนวัตกรรม ดังนี้
1. จัดตั้ง Thailand SMEs Center by Thai Chamber of Commerce เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง เพิ่มพูนทักษะ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ในด้านต่างๆ ได้แก่ การสร้างผู้ประกอบการใหม่ การพัฒนาจัดการธุรกิจ การพัฒนาแผนตลาดตามแนวโน้มธุรกิจใหม่ๆ การขยาย
2. ตลาดสู่อาเซียน การสร้างเครือข่ายและติดต่อธุรกิจ รวมไปถึงการบ่มเพาะ และแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจ
3. สนับสนุนโครงการ คูปองนวัตกรรม ร่วมกับ ภาครัฐ (NIA)
4. ร่วมสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่เรียกว่า IDE (Innovation Driven Entrepreneur) ที่มีการทำเพื่อความยั่งยืนร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รัฐบาล และภาคส่วนอื่นๆ ในการสร้าง Eco System หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า ระบบนิเวศสำหรับผู้ประกอบการ IDE ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนตัวใหม่ให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตในอนาคต
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มที่ 3 เรื่อง "ประสิทธิภาพและมาตรฐานของเกษตรและอาหาร" (Efficiency and Standardize for Agro & Food Business) กล่าวว่า ความสำคัญของการสร้างมาตรฐานและประสิทธิภาพ ในธุรกิจเกษตรและอาหารที่เป็น ธุรกิจหลักของประเทศไทย ที่เรียกว่าเราเป็น Kitchen of the world ปัจจุบันประเทศไทยยังเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น IUU Fishing, TIP Report, ภัยแล้งและภัยพิบัติต่างๆ ประสิทธิภาพของแรงงานภาคเกษตร ดังนั้นการดำเนินการต่าง ๆ ควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญ 4 ประการดังนี้
1. การใช้ตลาดนำผลิต คือ ดูความต้องการของตลาดก่อนแล้วจึงมีการผลิต และมีการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ผ่านการทำ Innovation ต่างๆ ทั้งสินค้า บริการ และกระบวนการ
2. การรวมกลุ่มผู้ประกอบการ ส่งเสริมการรวมกลุ่ม Cluster เพื่อร่วมกันทำ ลดต้นทุน รวมช่องทางการช่วยเหลือต่างๆ ให้เป็นระบบ ตลอด Value Chain
3. การสร้างมาตรฐานคุณภาพ และความปลอดภัย ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ส่งเสริมการผลิตตลอด Value Chain
4. การจัดการบริหารความเสี่ยง เช่น การปลูกพืชผสมผสาน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแหล่งรายได้หลายทาง
ทั้งนี้ สิ่งที่หอการค้าและผู้ประกอบการควรดำเนินการมีดังนี้
1. การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการด้านเกษตรและอาหารของหอการค้าทั่วประเทศ
2. การขยายผลและส่งเสริม THAI GAP (Good Agriculture Practice)
3. ส่งเสริมและขยายผลโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร
4. การขยายผล Business Model ของโครงการที่ประสบผลสำเร็จต่อไป