กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--สสว.
สสว.เดินหน้าสร้างผู้ประกอบการ SMEs กลุ่ม Start – up โดยร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง ธนาคาร SME และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป้าหมายสร้างเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมจำนวน 10,000 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี (2559- 2561) เน้นกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่พึ่งจบการศึกษา และ SME ที่เริ่มทำกิจการได้ไม่เกิน 3 ปี โดยใช้กระบวนการบ่มเพาะทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ พร้อมทั้งสนับสนุนทางด้านการเงินแบบครบวงจร
วันนี้ (25 พ.ย.2558) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Start-Up) ระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) จำนวน 9 แห่ง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่หรือกลุ่มที่เริ่มดำเนินธุรกิจ (Start-Up) จำนวน 10,000 ราย ภายในปี พ.ศ.2561 ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน โดยมอบหมายให้ สสว. บูรณาการความร่วมมือ พร้อมส่งต่อความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเติบโตเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง และผู้ประกอบการขนาดกลางสามารถเติบโตเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในอนาคต
นอกจากนี้ การทำงานของสสว. ยังเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคเกษตรแปรรูป รวมถึงผู้ประกอบการในทุกๆ วงจรธุรกิจ ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจประเทศให้กระจายตัวเพื่อสร้างฐานรายได้ให้สูงขึ้นอย่างมั่นคง และเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า การสร้าง SME รุ่นใหม่ที่มีนวัตกรรมจำเป็นต้องทำร่วมกับสถานศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยมีทักษะในเรื่องการวิจัย และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านนี้โดยตรง กลุ่มเป้าหมายที่จะบ่มเพาะให้เป็นผู้ประกอบการใหม่คือ ผู้ที่
เพิ่งสำเร็จการศึกษาและ SME ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่เกิน 3 ปี โดยใช้กระบวนการบ่มเพาะทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้ง ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประยุกต์นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยจะมีการแบ่งบทบาท และขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ดังนี้
1. สสว. เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับศูนย์บ่มเพาะ 35 แห่งที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน การบ่มเพาะจะมุ่งเน้นไปยังภาคธุรกิจที่รัฐบาลให้การส่งเสริม และวางเป้าหมายเป็นอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ประการสำคัญที่สุดคือ สสว. จะเป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่ช่วยประคับประคองให้ SMEs ที่เกิดใหม่สามารถดำเนินกิจการต่อเนื่องไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างยอดขาย ความสามารถในการแข่งขัน
2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก 4) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 5) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 6) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 7) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 8) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และ 9) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งมีวิทยาเขตรวม 35 แห่งกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน อาทิ มทร. ธัญบุรี มีจุดเด่นในด้านเกษตรแปรรูปและวิศวกรรม มทร.ล้านนา มีจุดเด่นด้านการออกแบบ การทำผลิตภัณฑ์ Lifestyle เป็นต้น
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง มีความพร้อมทางด้านสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์หลากหลายสาขาวิชาชีพ สามารถช่วยผู้ประกอบการรายใหม่ ให้นำแนวคิดและองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกิดจากผลงานวิจัยและพัฒนา มาสร้างให้เป็นสินค้าและบริการในเชิงพาณิชย์ได้
3. SME BANK เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงทางการเงิน ให้การสนับสนุน ผู้ประกอบการรายใหม่ด้วยการให้สินเชื่อหรือร่วมลงทุน และการหาช่องทางการตลาดให้ โดยจะพยายามจูงใจผู้ประกอบการใหม่ให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเป็นสมาชิกของ สสว. ทั้งนี้ SME ที่เกิดใหม่มีข้อจำกัดในการขอสินเชื่อ SME BANK จึงอาจต้องใช้วิธีเข้าร่วมลงทุนกับ SME เกิดใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ SME BANK เข้าร่วมลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทอยู่แล้ว
4. สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งมีสมาชิกอยู่กว่า 120 สมาคม ในทุกสาขาทั่วประเทศ จะมีส่วนร่วมในการคัดคนรุ่นใหม่เข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะ เมื่อจบหลักสูตรการบ่มเพาะ พร้อมจะเป็นผู้ประกอบการแล้ว สมาชิกของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งประกอบด้วยนักธุรกิจมืออาชีพหลากหลายสาขา จะมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ พร้อมทั้งจะทำหน้าที่ "พี่เลี้ยง" ให้แก่ผู้ประกอบการใหม่ไปอีกระยะหนึ่งด้วย
บทบาทของทั้ง 4 หน่วยงาน เป็นไปในเชิงบูรณาการ และกล่าวได้ว่า เป็นกระบวนการที่ครบวงจร ในการบ่มเพาะ SMEs รายใหม่ให้เกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการประคับประคอง SMEs เกิดใหม่ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจในอนาคต