กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต
รายงานแรกของโลกที่ทำการสำรวจเมืองและธุรกิจเอสเอ็มอีถึงการปรับตัวเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของธุรกิจจากต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศใน 18 ประเทศทั่วโลก
70% ของธุรกิจเอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดย 1 ใน 2 ของธุรกิจเอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและอุณภูมิที่สูงขึ้น § ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัวแต่ต้องการความสนับสนุนจากอุตสาหกรรมประกันภัยในเรื่องนี้
กลุ่มแอกซ่า และ หน่วยงานความริเริ่มด้านการเงินด้านหลักประกันที่ยั่งยืน ภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEPFI PSI) ได้ออกรายงานสากลเรื่องความสามารถของธุรกิจเอสเอ็มอีในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สามารถดูรายงานฉบับเต็มได้ที่: http://www.axa.com/en/responsibility/climate-change/enhancing-knowledge/resilience-cities-sme/
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก คำถามคือ ธุรกิจเอสเอ็มอีจะปรับตัวรับผลกระทบนี้อย่างไร จะจัดการความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมเช่นไร อะไรคืออุปสรรคที่ขัดขวางความเข้มแข็งของธุรกิจเอสเอ็มอี รายงานนี้ได้สำรวจความเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี กว่า 1,100 คน จากเมืองใหญ่ๆ ใน 18 ประเทศ ทั้งจาก ยุโรป อเมริกา เอเซีย รวมถึง ประเทศไทย
ในประเทศไทย ผลวิจัยพบว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ธุรกิจเอสเอ็มอีให้ความสำคัญ
70% ของ ธุรกิจเอสเอ็มอี ได้รับกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 55% ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 49% ได้รับผลกระทบจากอุณภูมิที่สูงขึ้น และ 36% ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศรุนแรง
80% ของ ธุรกิจเอสเอ็มอี มองว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงสำหรับธุรกิจในระยะสั้น
36% ของ ธุรกิจเอสเอ็มอี กล่าวว่ากระบวนการผลิตได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
37% ของ ธุรกิจเอสเอ็มอี มีความกังวลว่าต้นทุนของการประกันภัยจะมีความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ผลวิจัยยังพบว่า ประสบการณ์จากสภาพอากาศรุนแรงและอุทกภัยทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเห็นความสำคัญในการปรับตัวมากขึ้น แต่ยังต้องการความสนับสนุนจากธุรกิจประกันภัยเพิ่มขึ้น
38% ของ ธุรกิจเอสเอ็มอี มีแผนเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยที่ 35% มีความพร้อมค่อนข้างมากในการรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
85% ของ ธุรกิจเอสเอ็มอี เชื่อว่าธุรกิจควรจะให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มากกว่าการป้องกันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
78% ของ ธุรกิจเอสเอ็มอี ไทยเชื่อว่าบริษัทฯประกันภัยควรกระตุ้นให้คนทั่วไปและธุรกิจใส่ใจในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากขึ้น
31% ของ ธุรกิจเอสเอ็มอี เห็นว่าอุตสาหกรรมประกันภัยควรให้ความสำคัญในการเตรียมตัววางแผนธุรกิจเพื่อพร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
นางสายฝน สัจจศิลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บมจ. กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต กล่าวว่า รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศไทยนั้นให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นอย่างมาก และการที่ธุรกิจจะเข้มแข็งและประสบความสำเร็จนั้น ธุรกิจต้องลดความเสี่ยงและปรับตัวในทุกด้าน ตั้งแต่ ใน ระดับรากหญ้า ระดับประเทศ และ ระดับโลก ที่กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต เรามีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันภัยจะสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจผ่านทั้งการสร้างความตระหนักรู้และและการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวเพื่อสร้างชุมชนที่มีสุขภาพดี มีธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่ง โดยทางกรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต และ แอกซ่าประกันภัย ในประเทศไทย จะมุ่งมั่นในการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
นางสาวมณีนุช คงอาชาภัทร ผู้อำนวยการสายงานการตลาด บมจ.แอกซ่าประกันภัยกล่าวว่า "ธุรกิจเอสเอ็มอีถือเป็นรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยมาตลอด และจากการประเมินปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะในเรื่องของภัยธรรมชาติ หรือ ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น กรณีน้ำท่วมใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2554 ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากเคยได้รับผลกระทบจนบางรายต้องปิดตัวเอง และอีกหลายรายยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ การเร่งวางแผนลดความเสี่ยงทางธุรกิจให้แก่เอสเอ็มอีจากภัยธรรมชาติให้เป็นรูปแบบชัดเจนเป็นมาตรฐานเพื่อให้สามารถรับมือต่อภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ๆ ที่แอกซ่าเองจะมองข้ามไปไม่ได้ และต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติของ เอสเอ็มอี โดยเฉพาะในระดับเล็กของไทยเรานั้นถือว่าน้อยมากอยู่ แต่หากได้มีการวางแผนล่วงหน้า เช่น การสำรองแหล่งผลิต สำรองเงินทุน มีแผนเคลื่อนย้ายแรงงาน ก็จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระผลจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้
กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ผ่านโครงการที่ร่วมมือกับมูลนิธิรักษ์ไทยในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โครงการบำบัดน้ำเสียจากการย้อมผ้าทอมือที่จังหวัดลพบุรี และ โครงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง