กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
กรมทรัพยากรน้ำบาดาลวางมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง แก้ปัญหาทั่วประเทศ เร่งรัดโครงการ ปี 2559 เจาะน้ำบาดาลเกือบ 6,000 บ่อ งบประมาณ 3,400 ล้านบาท พร้อมแจ้งเตือนภัยประชาชนและบริษัทรับจ้างเจาะบ่อน้ำบาดาลให้ระวังและอย่าหลงเชื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลแอบอ้างว่าได้รับงานจ้างเหมาเอกชนเจาะบ่อน้ำบาดาลจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มิฉะนั้นอาจสูญเสียทรัพย์สิน แก่มิจฉาชีพ ย้ำหากมีข้อสงสัยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หรือติดต่อผ่านสายด่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Green Call 1310 กด 4
นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากร น้ำบาดาล เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์แหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใน 4 เขื่อนหลักน้อยกว่า ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีนโยบายให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการป้องกันและบรรเทา ความเดือดร้อนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ประเมินศักยภาพของแหล่งน้ำบาดาลต้นทุนที่สามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ในช่วงที่เกิดภาวะภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาล่วงหน้า โดยมอบเป็นนโยบายเร่งด่วนในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ ดังนี้
มาตรการที่ 1 จัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องจักรเพื่อให้พร้อมดำเนินการในพื้นที่ ประกอบด้วย ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 92 ชุด ชุดเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล 76 ชุด ชุดซ่อมระบบประปาและ เครื่องสูบ 56 ชุด ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 ชุด รถบรรทุกน้ำ 95 คัน จุดจ่ายน้ำถาวร 87 แห่ง และระบบน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 2,631 ระบบ
มาตรการที่ 2 จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อติดตามให้ความช่วยเหลือเรื่องน้ำกินน้ำใช้ของประชาชน และรับแจ้งการขอความช่วยเหลือด้านน้ำบาดาลจากประชาชนผ่านสายด่วนกระทรวงทรัพยากรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Green Call 1310 กด 4
มาตรการที่ 3 เร่งรัดการดำเนินงาน 4 โครงการหลักของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เป้าหมายรวม 5,997 แห่ง งบประมาณ 3,452 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถให้บริการประชาชนได้กว่า 530,000 ครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 390,000 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำประมาณ 197 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประกอบด้วย
- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เป้าหมายดำเนินการ 1,836 แห่งทั่วประเทศ งบประมาณ 1,468 ล้านบาท เป็นการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลพร้อมก่อสร้างระบบประปาบาดาลและระบบกระจายน้ำให้แก่หมู่บ้านที่ไม่มีระบบประปา ซึ่งจะช่วยให้ประชาชน มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียงตลอดฤดูแล้ง
- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศหรือโครงการน้ำโรงเรียน เป้าหมายดำเนินการ 688 แห่งทั่วประเทศ งบประมาณ 742 ล้านบาท เพื่อช่วยให้นักเรียนและบุคคลากรในโรงเรียน รวมถึงชุมชนใกล้เคียงมีน้ำดื่มสะอาดมาตรฐานองค์การอนามัยโลกและ เป็นจุดให้บริการน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติได้อีกด้วย
- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง เป้าหมายดำเนินการจำนวน 1,278 แห่ง งบประมาณ 506 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ให้มีแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชผักในการเลี้ยงชีพและประกอบอาชีพ ช่วยให้คนในพื้นที่ มีงานทำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยบรรเทาปัญหาการละทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่
-โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 2,195 แห่ง งบประมาณ 735 ล้านบาท โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลและติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน จำนวน 1,460 แห่ง ส่วนอีก 735 แห่ง ซึ่งอยู่ ในเขตชลประทานเป็นการจ้างเหมาเอกชนเจาะบ่อน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเอง
มาตรการที่ 4 การให้ความช่วยประชาชนในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ผ่านโครงการ "ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง" ประจำปี พ.ศ. 2559 ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน คือ กองทัพบก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรมทรัพยากร น้ำบาดาล โดยเปิดจุดจ่ายน้ำถาวรทั่วประเทศ 87 แห่ง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำแก่ประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ ภายในต้นปี 2559
มาตรการที่ 5 สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน เช่น ความรู้เรื่องการทรุดบ่อ การเจาะบ่อน้ำบาดาลทำให้เกิดแผ่นดินทรุดหรือไม่ รวมถึงการชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรในการนำ น้ำบาดาลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่นำน้ำบาดาลไปใช้เพาะปลูกข้าว
มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังระดับน้ำบาดาลและตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลผ่านเครือข่าย บ่อสังเกตการณ์ทั่วประเทศ 2,561 สถานี จำนวน 5,515 บ่อ และสามารถกักเก็บไว้ใช้เป็นแหล่งน้ำสำรอง ในกรณีจำเป็นได้ ไม่น้อยกว่า 161 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
มาตรการที่ 7 การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำประปาสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชน ในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 7 จังหวัด) ที่ผ่านมากรมทรัพยากร น้ำบาดาลได้ออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลแล้ววันละ 800,000 ลูกบาศก์เมตร และสามารถออกใบอนุญาต ให้ใช้น้ำบาดาลเพิ่มเติมได้อีกวันละ 400,000 ลูกบาศก์เมตร รวมเป็นวันละ 1,200,000 ลูกบาศก์เมตร (ไม่เกิน Safe Yield 1.25 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เหมาะสมที่สามารถนำขึ้นมาใช้ได้ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง) ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตงดใช้น้ำประปา และให้ใช้น้ำบาดาลเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะ โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลให้ประชาชนได้ใช้น้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ ตลอดฤดูแล้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปริมาณการสูบใช้น้ำบาดาลในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลมีเพียงวันละ 200,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้มีบุคคลและกลุ่มบุคคลแอบอ้างปลอมแปลงเอกสารราชการหลอกลวงว่า ได้รับงานจ้างเหมาเอกชนเจาะบ่อน้ำบาดาล จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อาจทำให้ผู้มีอาชีพรับจ้างเจาะบ่อน้ำบาดาลหรือผู้เกี่ยวข้องหลงเชื่อ และไปดำเนินการทำสัญญารับงานจ้างกับบุคคลและกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยมีการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือเรียกเก็บเงินมัดจำล่วงหน้า หรือขอรับผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลขอเรียนให้ทราบว่า หากจะดำเนินการจัดจ้างเมื่อใดจะมีการประกาศให้ทราบอย่างชัดเจน พร้อมเผยแพร่ บนเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (www.dgr.go.th) และขอย้ำว่าแนวทางหรือหลักเกณฑ์วิธีการจัดซื้อจัดจ้างของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะไม่มีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าหรือให้วางเงินมัดจำใดๆ และการลงนาม ในสัญญาต่างๆ คู่สัญญาต้องเดินทางไปลงนาม ณ ที่ทำการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในส่วนกลางหรือ ส่วนภูมิภาค 12 แห่ง เท่านั้น
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณต้นปี 2558 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทำหนังสือแจ้งให้ประธานชมรมช่างเจาะน้ำบาดาลแห่งประเทศไทย ประธานชมรมช่างเจาะน้ำบาดาลแห่งประเทศไทยภาคเหนือ นายกสมาคมน้ำบาดาลไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทราบถึงกรณีมีบุคคลและ กลุ่มบุคคลแอบอ้างว่าได้รับงานจ้างเหมาเอกชนเจาะบ่อน้ำบาดาลจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในแต่ละพื้นที่ ทั่วประเทศแล้วครั้งหนึ่ง และจัดทำประกาศเตือนบนหน้าเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (www.dgr.go.th) รวมทั้งได้ดำเนินการมอบอำนาจการร้องทุกข์แทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1-12 สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำการดังกล่าว เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและประชาชนทั่วไป ซึ่งทางหน่วยงานจะเร่งประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุแล้วเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำการแอบอ้างดังกล่าวมาดำเนินคดีอาญาให้ถึงที่สุด
หากประชาชนท่านใดพบการกระทำดังกล่าวให้แจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที สำหรับ
ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านน้ำบาดาล หรือผู้มีอาชีพรับจ้างเจาะบ่อน้ำบาดาลที่มีข้อสงสัยต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สามารถติดต่อผ่านสายด่วน Green Call 1310 กด 4