กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--อย.
อย.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ ในวันที่ 29 มิถุนายน 2544 ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคาร 4 ตึกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หวังเต็มที่ ใช้เป็นเวทีประสานความร่วมมือ ให้ได้ข้อคิดเห็นต่างๆ มาปรับปรุงแก้ไขร่าง พรบ. และร่างประกาศฯ กำหนดเครื่องมือแพทย์ที่ต้องรับใบอนุญาต เพื่อให้กฎหมายเครื่องมือแพทย์ฉบับใหม่ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
น.พ.บุญชัย สมบูรณ์สุข รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่รับผิดชอบในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ภายใต้พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2531 อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการปรับปรุงกฎหมายกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ให้มีความทันสมัย เป็นสากล ส่งเสริมการส่งออกมากขึ้น และเป็นการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องมือแพทย์ อย.จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ขึ้นใหม่ และร่างประกาสกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดเครื่องมือแพทย์ที่ต้องรับใบอนุญาต ซึ่งการจัดทำร่างดังกล่าว ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาโดยตลอด และจัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นมาแล้วหลายครั้ง พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดความเหมาะสมยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ได้มีมติให้ อยงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในร่างพระราชบัญญัติฯ และร่างประกาศฯ ดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อให้ได้ร่างกฎหมายที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย.จึงจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดเครื่องมือแพทย์ที่ต้องรับใบอนุญาต ขึ้น ในวันที่ 29 มิถุนายน 2544 เวลา 8.30 น. - 16.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคาร 4 ตึกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 700 คน ประกอบด้วย หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ราชวิทยาลัยแพทย์ เฉพาะทาง แพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน อาทิ สมาคม ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ไทย ผู้ประกอบการด้านเครื่องมือแทพย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งนี้เพื่อนำข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขให้ได้ร่างกฎหมายที่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งหลังจากการประชุมแล้วเสร็จ ก็จะนำข้อสรุปที่ได้จากการประชุมเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ ครั้งที่ 3-2544 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2544 ต่อไป
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การประชุมในครั้งนี้ จะทำให้ได้กฎหมายเครื่องมือแพทย์ที่สามารถใช้กำกับดูแล และคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น รวมทั้งกฎหมายฉบับ ดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ขอให้ผู้เกี่ยวข้องที่สนใจเข้าร่วมประชุม ติดต่อแสดงความจำนงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ที่หมายเลขโทรศัพท์ 590-7250 ภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2544--จบ--
-นห-