กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--มรภ.สงขลา
นักศึกษาพัฒนาชุมชน มรภ.สงขลา ปิ๊งไอเดียนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทำโครงงานเกษตร 4 ชั้น ช่วยเกษตรกรใช้พื้นที่ทำกินเกิดประโยชน์สูงสุด ได้ผลผลิตหลากหลาย ลดปัญหาระบบทางเดินหายใจจากการเผากำจัดวัชพืช
โครงงานการเกษตร 4 ชั้น ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำโดยกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 2 โปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สมาชิกประกอบด้วย นายศาสตรา จิตตวาที น.ส.อติกานต์ ใจบุญ และ นายอภิศักดิ์ ทัศนี (มรภ.สงขลา) ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ รายวิชาเรียนรู้คุณธรรมนำชีวิตพอเพียง ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการลงพื้นที่บ้านยางงาม หมู่ที่ 9 ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลา ของอาจารย์และนักศึกษาโปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน ก่อให้เกิดการเรียนรู้ รับทราบปัญหา และกระบวนการศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชนตามมา
นายศาสตรา หนึ่งในตัวแทนนักศึกษาที่จัดทำโครงงานดังกล่าว เล่าว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาชุมชนของรุ่นพี่ชั้นปีที่ 4 พบว่า ชาวบ้านยังจัดสรรพื้นที่ทำกินให้เกิดประโยชน์อย่างไม่เต็มที่ เดิมปลูกแต่ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ ประกอบกับชาวบ้านส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพด้านระบบทางเดินหายใจ จากการใช้สารเคมีและควันไฟในการเผากำจัดวัชพืช รวมไปถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ความดัน เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง เมื่อได้นำข้อศึกษานี้มาร่วมหารือกันในชุมชน ศูนย์เรียนรู้การเกษตร 4 ชั้นจึงก่อกำเนิดขึ้น โดยการนำแนวคิดวิถีเกษตรพอเพียงในการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้าน น.ส.อติกานต์ กล่าวเสริมว่า การเกษตร 4 ชั้น คือ ระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชแต่ละขนาดที่มีความสูงต่างระดับกัน เพื่อรักษาระบบนิเวศ และความสมดุลตามธรรมชาติ ตลอดจนการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน ทำให้ผู้ปลูกมีผลผลิตหลากหลาย มีกิน มีขายตลอดปี โดยแบ่งพื้นที่ปลูกพืชเป็น 4ระดับ ชั้นที่ 1 คือพืชใต้ดิน พืชชนิดหัว หรือเหง้า เช่น ขมิ้น ขิง ข่า ชั้นที่ 2 คือพืชหน้าดิน กลุ่มอาหารและสมุนไพร เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้ง ชะพลู ชั้นที่ 3 คือพืชไม้ผล ไม้เลื้อย กลุ่มอาหาร และการจำหน่าย เช่น มะละกอ มะม่วง ขนุน ตำลัง ถั่วฝักยาว บวบ ฟัก ชั้นที่ 4 คือ พืชยืนต้น กลุ่มผลไม้และใช้ประโยชน์เนื้อไม้ เช่น มะพร้าว ยางพารา โดยเพิ่มการวางแผนการปลูกชนิดพืชตามธาตุของผู้พักอาศัยในบ้าน เพื่อให้มีพืชผักที่บำรุงร่างกายสอดคล้องและเหมาะสมกับสุขภาพแต่ละครัวเรือน ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจากการฝังตัวในพื้นที่จนก่อให้เกิดความเข้าใจ นำมาสู่การพัฒนาและต่อยอดเพื่อประโยชน์สู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน