กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--กรมสุขภาพจิต
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กสากล ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สตรีและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงและเข้ารับบริการศูนย์พึ่งได้ตามโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยปี 2556 มีสตรีและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง 31,866 ราย เฉลี่ยการถูกทำร้าย 87 รายต่อวัน หรือกล่าวได้ว่า ในทุกชั่วโมงมีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรง 4 ราย ในขณะที่ปี 2555 มีสตรีและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง 20,572 ราย หรือเฉลี่ย 56 ราย/วัน ทั้งนี้ พบว่า เด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด ในขณะที่สตรีถูกกระทำความรุนแรงทางกายมากที่สุด สำหรับผู้กระทำความรุนแรงในเด็กมากที่สุด คือ แฟน เพื่อน และคนในครอบครัว ขณะที่ผู้กระทำความรุนแรงในสตรีมากที่สุด ได้แก่ สามี แฟน และคนในครอบครัว ส่วนสาเหตุของการกระทำความรุนแรงในเด็ก อันดับ 1 ได้แก่ สภาพแวดล้อม อาทิ สื่อลามกต่างๆ หรือความใกล้ชิด รองลงมา คือ การใช้สารกระตุ้น อาทิ การดื่มสุรา ใช้สารเสพติดอื่นๆ และสัมพันธภาพในครอบครัว ขณะที่สาเหตุการกระทำความรุนแรงในสตรีอันดับ 1 ได้แก่ สัมพันธภาพในครอบครัว อาทิ การนอกใจ ทะเลาะ หึงหวง รองลงมา คือ การใช้สารกระตุ้น และสภาพแวดล้อม
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากการถูกกระทำความรุนแรง ในผู้หญิงนั้น บาดแผลทางจิตใจ ที่เกิดขึ้นอาจไม่สามารถลบเลือนไปได้ง่ายๆ ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์บุคลิกภาพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจมีความกระวนกระวาย จิตใจแปรปรวน ขณะที่บางคนมีอาการเครียด ท้อแท้เรื้อรัง สูญเสียความมั่นใจในตนเอง อับอาย ซึมเศร้า หรือบางรายมีอาการทางจิต หวาดกลัว หวาดผวา เป็นต้น ขณะที่เด็กทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือแม้แต่ทางอ้อมโดยการเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ก็สามารถมีโอกาสซึมซับและยอมรับความรุนแรงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยเข้าใจผิดว่าปัญหาต่างๆ สุดท้ายต้องแก้ไขด้วยความรุนแรง
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ การดื่มสุรา ที่พบว่าเป็นอีกปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่นำไปสู่การกระทำความรุนแรงต่อทั้งสตรีและเด็กนั้น ก็จำเป็นต้องร่วมกันรณรงค์เชิญชวนให้ลด ละ เลิกกันมากขึ้น เนื่องจากสุราจะมีผลกับสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการคิด การตัดสินใจ และการใช้เหตุผล โดยจะไปมีฤทธิ์กดสมองส่วนนี้ ทำให้ผู้ที่ดื่มขาดการยับยั้งชั่งใจ ใช้เหตุใช้ผลได้ไม่ดีนัก ไม่รับรู้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก ประกอบกับทำให้เกิดความรู้สึกคึกคะนอง และก้าวร้าว การกระทำความรุนแรงจึงเกิดขึ้นกับบุคคลที่อยู่รอบข้างได้ง่าย สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกผู้ดื่มสุราทำร้าย ขอแนะ 5 ไม่ ในการป้องกันตัว คือ 1.ไม่นิ่งนอนใจ โดยตรวจสอบว่ามีอาวุธอยู่กับตัวของผู้เมาสุรา หรือบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ ถ้ามี และไม่มั่นใจว่าปลอดภัย ให้โทรศัพท์แจ้งตำรวจ 2.ไม่ใช้กำลัง ในการยุติความ เว้นแต่จะเป็นการกระทำไปเพื่อป้องกันตัวตามเหตุผลที่สมควร 3.ไม่สร้างบรรยากาศ ข่มขู่ ตำหนิ หรือกดดัน ไม่ยิ้มเยาะหรือหัวเราะ ไม่โต้แย้งหรือ ท้าทาย หรือตะโกนใส่ เพราะจะยิ่งเพิ่มความโกรธและหงุดหงิดให้เขามากขึ้น จึงควรยุติการสนทนาลง 4.ไม่ให้บุคคลนั้นเข้าใกล้เครื่องยนต์กลไกหรือขับขี่ยานพาหนะ และ 5.ไม่เข้าไปใกล้บุคคลนั้นมากเกินไป เพราะจะเป็นอันตรายได้ จึงควรมีระยะห่าง ตลอดจนหลีกเลี่ยงการจ้องตาหรือการมองตาอย่างต่อเนื่อง
"ที่สำคัญ ทุกคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม ถ้าเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นต้องไม่เพิกเฉย ควรรีบให้ความช่วยเหลือตามกำลังความสามารถ เช่น โทรศัพท์แจ้งตำรวจ แจ้ง OSCC (One Stop Crisis Center) แจ้งสายด่วน 1300 รวมทั้ง ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน สายด่วน 1111 หรือศูนย์ดำรงธรรม ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงภายในชุมชน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบเฝ้าระวังการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งหรือเรื่องส่วนตัวของใคร และ หากพบคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดมีปัญหาทางจิตใจเนื่องจากถูกกระทำความรุนแรง สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว