กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--
เรื่องของขยะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ยิ่งเมืองมีความเจริญมากเท่าใด ขยะก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น อย่างประเทศไทยเองก็มีขยะตกค้างมากกว่า 30 ล้านตัน ดังนั้นแต่ละประเทศจึงต้องหาวิธีจัดการขยะในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกขยะ การแปรรูปขยะ และการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน แต่ "จีจี้" นางสาววิภาวี โมจนกุล และ "กิ๊ฟท์" นางสาวศลิษา วิวัฒนวรวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีแนวคิดที่ต่างออกไป ด้วยการพัฒนาแอพลิเคชั่นทีมีชื่อว่า "Eco Spot" โดยมี ผศ.ดร.ชาคริดา นุกูลกิจ และ ดร.วิทิดา จงศุภชัยสิทธิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทั้งนี้เพื่อเป็นพื้นที่ในการรีไซเคิลขยะโดยการส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดย วิภาวี กล่าวว่าแอพพลิเคชั่นนี้เป็นแอพฯ ที่ช่วยต่อยอดการรีไซเคิลขยะ และเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยควบคุมปริมาณขยะประเภทต่างๆ ที่ล้นเมืองอยู่ในขณะนี้
"ในหลายประเทศการรีไซเคิลขยะเป็นเรื่องง่ายเพราะประชาชนมีวินัยในการคัดแยกขยะ แต่สำหรับเมืองไทยการรีไซเคิลขยะยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยยังไม่ชินกับการคัดแยกขยะ ซึ่งการแยกขยะนั้นสำคัญเพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเห็นว่าขยะประเภทใดสามารถนำไปสร้างมูลค่าได้ ดังนั้นแอพฯ Eco Spot จะเป็นหนึ่งตัวช่วยให้การรีไซเคิลขยะเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนสามารถทำได้"
ทางด้าน ศลิษา กล่าวเพิ่มเติมว่า Eco Spot ถูกออกแบบบมาให้เป็นสังคมของคนที่ต้องการหาสถานที่เพื่อการรีไซเคิลขยะ โดยกำหนดการรีไซเคิลออกเป็น 4 ประเภท อย่างแรกคือ Recycle เป็นโหมดสำหรับการค้นหาร้านขายของเก่าหรืออุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วเพื่อการติดต่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน Food Scrap เป็นโหมดในการค้นหาขยะประเภทอาหาร เช่น ร้านกาแฟมีกากกาแฟที่กลายเป็นขยะในปริมาณมากทุกวัน แต่ในขณะเดียวกันร้านเสริมความงามก็ต้องการกากกาแฟในปริมาณมากๆ ทุกวันเพื่อนำมาเป็นผลิตภัณฑ์สครับผิวให้แก่ลูกค้า หรือขยะที่เป็นผักและเปลือกผลไม้ก็มีคนบางกลุ่มต้องการเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักธรรมชาติใช้ในการเกษตร นอกจากนั้นยังมี Landfill เป็นโหมดที่มีประโยชน์สำหรับคนที่ต้องการจะทิ้งขยะสิ่งก่อสร้าง ยกตัวอย่างง่ายๆ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหลายแห่งใช้กระสอบทรายในการกั้นน้ำ แต่หลังจากผ่านช่วงน้ำท่วมไปแล้วกระสอบทรายส่วนมากถูกทิ้งให้เป็นขยะบ้างก็ไหลลงไปปิดคลอง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีคนที่กำลังต้องการทรายจำนวนมากเพื่อใช้ในการก่อสร้างอยู่ก็ได้ และสุดท้ายคือ Freecycle เป็นโหมดเพื่อการแลกเปลี่ยนของเก่าที่กลายเป็นขยะสำหรับบางคน ให้กลายเป็นของใหม่ที่มีประโยชน์สำหรับคนอื่น เช่น บางคนมีโซฟาตัวเก่าที่ไม่ใช้แล้วแต่ แทนที่จะนำไปทิ้งในที่รกร้างให้กลายเป็นขยะทำลายทัศนวิสัย ก็สามารถเข้ามาแจ้งความประสงค์ใสนการบริจาคโซฟาได้ เพราะอาจจะมีอีกคนที่กำลังต้องการโซฟาเก่าอยู่ก็ได้
"เราอยากสร้างสังคมที่คนสามารถแสดงสถานะเรื่องขยะของตนเองได้ ถ้าคนในสังคมสามารถรับรู้ซึ่งกันและกันได้ว่าใครกำลังจะทิ้ง หรือใครกำลังอยากใช้ อาจทำให้ปริมาณขยะในบ้านเราลดลงไปได้ เราจึงพัฒนา Eco Spot ขึ้นภายใต้คอนเซ็ป The Recycle and Freecycle Locator เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการแจ้งความต้องการเกี่ยวกับการรีไซเคิลขยะประเภทต่างๆ พร้อมข้อมูลติดต่อของทั้งผู้ให้และผู้รับ และเพื่อความสะดวกยิ่งขึ้นยังมีการระบุตำแหน่งที่ตั้งของร้าน หรือสถานที่นั้นๆ บนฐานข้อมูลของ Google Map ที่เชื่อถือได้และชัดเจน โดยแอพฯ นี้สามารถใช้งานได้ทั้งในแอพพลิเคชั่นบนมือถือ และใช้งานผ่านเว็บไซต์"
ทั้งนี้ผลงาน Eco Spot เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างผลงานนักศึกษาที่น่าสนใจจากงาน SIT Open House 2015 ที่ผ่านมาซึ่งมีการรวบรวม Senior Project จบการศึกษาของนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ. ไว้หลายชิ้น แต่อย่างไรก็ตามผลงานนี้ถือเป็นต้นแบบแอพพลิเคชั่นที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้ในอนาคต