กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า วันศุกร์ที่ 4 ธ.ค.2558 มีเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ 2 เหตุการณ์ที่น่าจับตาเปรียบได้กับภูเขาไฟ 2 ลูกที่กำลังจะปะทุในตลาดการเงินโลก
ภูเขาไฟลูกแรก คือ การประชุมขององค์กรกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (Organization of the Petroleum Exporting Countries) หรือ โอเปก (OPEC) ที่มีโอกาสคงกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของกลุ่มเอาไว้ ไม่ให้เสียส่วนแบ่งตลาดให้กับสหรัฐที่ผลิต Shale Oil ซึ่งถ้ากลุ่ม OPEC คงกำลังการผลิตน้ำมันเอาไว้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันที่ต่ำอยู่แล้วปรับตัวลดลงต่อได้อีก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปีหน้าอิหร่านพร้อมจะเข้ามาส่งออกน้ำมันหลังหลุดจากการแทรกแซงจากฝั่งตะวันตก ดังนั้น จึงมีโอกาสที่อุปทานน้ำมันของกลุ่ม OPEC จะปรับขึ้นแม้แต่ละประเทศสมาชิกจะคงกำลังการผลิตก็ตาม ซึ่งเป็นที่มาว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลงจากอุปทานที่ล้น ท่ามกลางความต้องการน้ำมันที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเพราะเศรษฐกิจโลกเติบโตช้า กล่าวโดยสรุปก็คือ หลังจากวันศุกร์นี้เป็นต้นไป มีโอกาสจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน อาจจะปรับตัวจาก 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลลงไปถึง 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือต่ำกว่านั้นก็เป็นได้
ความน่ากังวลต่อเศรษฐกิจไทย คือ คนที่พึ่งพิงรายได้จากภาคเกษตร เพราะราคาสินค้าเกษตรนั้นอิงกับราคาน้ำมันเป็นหลัก ไม่ว่าจะยาง ข้าว หรือ อ้อย กลุ่มนี้จะโดนผลกระทบอย่างชัดเจน และอาจส่งผลต่อการบริโภคภาคครัวเรือนให้เติบโตได้ช้าในอนาคต โดยเฉพาะคนในระดับฐานรากที่มีกำลังซื้อต่ำ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมจะเป็นบวก เพราะไทยนำเข้าน้ำมันสุทธิมาก ประมาณ 10% ของจีดีพี หรือ 20% ของการนำเข้าทั้งหมด ถ้าราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่ต่ำหรือลดลงได้ต่อ ไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อเสถียรภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
ภูเขาไฟลูกที่สอง คือ การประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ แม้จะประกาศทุกวันศุกร์ต้นเดือนเป็นปกติ แต่วันศุกร์เดือนธ.ค.นี้ นับว่าสำคัญที่สุด ถ้าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐออกมาดี หรือตัวเลขอัตราการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการตอกย้ำสัญญาณความพร้อมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ในรอบการประชุมที่จะเกิดขึ้นวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้ (ซึ่งจะรู้ผลช่วงเช้าวันที่ 17 ธ.ค.ตามเวลาประเทศไทย)
"นักลงทุนไม่ต้องรอถึงวันที่สหรัฐประชุมเรื่องอัตราดอกเบี้ยวันที่ 15-16 ธ.ค. เพียงแค่เห็นสัญญาณที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 4 ธ.ค.ว่าสหรัฐจะขึ้นหรือคงดอกเบี้ยก็พร้อมจะปรับตัว ถ้าเห็นสัญญาณว่าสหรัฐพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ จะส่งผลให้เกิดความผันผวนของค่าเงินในระยะสั้น เพราะสหรัฐไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยมานานมากแล้ว ถ้าสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ จะเกิดกระแสเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ และมีโอกาสที่บาทจะอ่อนค่าตั้งแต่วันศุกร์นี้เป็นต้นไปจนถึงช่วงกลางเดือน หลังจากนั้น หากสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยจริง เงินบาทจะอ่อนค่าแรงขึ้นอีกครั้งยาวไปจนถึงปลายปี โดยสำนักวิจัยฯมองค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐช่วงปลายปี" นายอมรเทพ กล่าว
สิ่งที่น่ากังวลคือภูเขาไฟทั้งสองลูกนี้จะปะทุขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน และเป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกทั้งคู่ ซึ่งจะนำไปสู่การเทขายสินทรัพย์เสี่ยง และโยกเงินกลับไปถือสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้บาทอ่อนค่าได้ต่อเนื่องในปีหน้า เพียงแต่ว่า บาทจะได้รับอานิสงส์ของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จากการที่ราคาน้ำมันปรับลดลง ส่งผลให้บาทอ่อนค่าไม่แรงนักเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งออกน้ำมันหรือสินค้าโภคภัณฑ์ จึงอาจทำให้ผู้ส่งออกเสียความสามารถในการแข่งขันได้ และอาจกดดันเกมสงครามค่าเงินในภูมิภาคนี้ให้ดำเนินต่อแม้สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หากทั้งสองเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามคาด กล่าวคือ หากอุปทานของน้ำมันหายไป อาจด้วยปัจจัยปัญหาเรื่องตะวันออกกลาง หรือเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหรือสงครามขึ้นมา ราคาน้ำมันอาจจะขยับขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่น่าจะเกิน 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นระดับที่ไม่น่าจะทำให้ประเทศไทยเสียดุลการค้า และยังสามารถประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
ขณะที่ประเด็นเรื่องของสหรัฐปรับดอกเบี้ยนั้น กรณีสหรัฐไม่พร้อมขึ้นดอกเบี้ย อาจด้วยปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยง ปัจจัยจาก ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป หรืออีกหลายประเทศ จนสหรัฐตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้เกิดภาวะเงินไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ได้
โดยสรุป มีความเป็นไปได้ทั้งคู่ ที่สหรัฐจะคงหรือขึ้นดอกเบี้ย แต่สำนักวิจัยฯให้น้ำหนักกับการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐจะนำมาซึ่งความชัดเจนของตลาดทุน และทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นกลับคืนมา แม้สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ฝุ่นตลบในระยะแรกๆ แต่ความกลัวว่าสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่จะหายไปและความเชื่อมั่นจะกลับมาทันที ในทางตรงข้ามถ้าสหรัฐตัดสินใจคงดอกเบี้ย นักลงทุนจะยังคงกังวลต่อไป และจะเกิดความไม่เชื่อมั่นขึ้นทันทีในตลาดการเงินในรอบการประชุมต่อๆไป
ในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนขณะที่ราคาน้ำมันตกต่ำนั้น มีทั้งอุตสาหกรรมที่ได้และเสียประโยชน์ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เป็นที่ต้องการของตลาดโลกและธุรกิจไทยมีอำนาจต่อรองด้านราคา โดยมากเป็นประเภทการส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร เช่นไก่แปรรูป ผลไม้สด และแปรรูป และ เครื่องปรุงรส นอกจากนี้ก็มีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาวัตถุดิบที่ลดลงตามราคาน้ำมัน เช่น ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจโรงแรมหรือธุรกิจอื่นที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว และธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มซีเมนต์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลเชิงลบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าและจากราคาน้ำมันที่ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมที่อาศัยการนำเข้าเป็นสัดส่วนที่สูง และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคเกษตรที่ลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็ก ผู้นำเข้าเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี เป็นต้น ขณะที่กลุ่มที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน รวมทั้งสถานีเติม LPG ก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
"สำหรับคำแนะนำนักลงทุนในช่วงเงินเฟ้อต่ำ ค่าเงินบาทอ่อน ขณะที่มีแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาตินั้น ผมอยากเสนอมุมมองให้นักลงทุนถือเงินสดหรือตราสารหนี้ระยะสั้นไว้บ้าง รอจังหวะการเข้าซื้อเมื่อราคาสินทรัพย์ปรับย่อลง ขณะที่กองทุนรวมตราสารทุนในต่างประเทศ กลุ่มยุโรปและญี่ปุ่นยังนับว่าน่าสนใจ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางทั้งสองจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม อันจะเสริมสภาพคล่องให้ตลาดทุนสามารถต้านทานแรงผันผวนได้บ้าง สุดท้ายคืออสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ในบางกลุ่ม เช่น คอนโดตลาดบนแนวรถไฟฟ้า หรือบ้านเดี่ยวและทาวเฮาส์ในกรุงเทพและภาคตะวันออก นอกจากนั้น การลงทุนในกองทุนรวมประเภทอสังหาริมทรัพย์ก็สามารถสร้างผลตอบแทนประเภทค่าเช่า และราคาได้ โดยเฉพาะช่วงที่ต้นทุนด้านดอกเบี้ยของไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำนาน ไม่พร้อมที่จะขยับขึ้นได้ตามสหรัฐ" นายอมรเทพ กล่าว