สนพ. เผยสถานการณ์การใช้ไฟฟ้า 10 เดือนแรก ปี 2558 พบคนไทยใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 3, 2015 14:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--Triple J Communication สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยสถานการณ์การใช้ไฟฟ้า 10 เดือนแรก ปี 2558 พบคนไทยใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 คาดตลอดทั้งปีใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 สอดคล้องกับ GDP ที่ปรับตัวดีขึ้นจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยสถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้า 10 เดือนแรกของปี 2558 พบว่า มีการผลิตไฟฟ้า 160,644 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 การใช้ไฟฟ้า 145,760 ล้านหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้นสาขาเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งนี้ประเทศยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดีภาครัฐได้มีการผลักดันให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าถึงร้อยละ 14 ดังนั้น สนพ.คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าตลอดทั้งปี 2558 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ3.1 หรือ 173,863 ล้านหน่วย เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นช่วงเวลานาน ประกอบกับการขยายตัวของภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการท่องเที่ยว การบริการ และการก่อสร้าง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 และคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในปี 2559 จะอยู่ที่ระดับ 28,300 – 29,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ระดับเฝ้าระวังของ Peak อยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ สนพ. ได้เตรียมมาตรการเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ได้แก่ โครงการรวมพลังงานหาร 2เปลี่ยนใหม่ประหยัดชัวร์ รณรงค์เปลี่ยนหลอด LED และใช้เครื่องปรับอากาศระบบ SEER เพื่อรองรับ Peak ไฟฟ้าหน้าร้อนที่จะเกิดขึ้น ด้านการใช้น้ำมันสำเร็จรูป รวมทั้งสิ้น 141 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ1.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้เบนซิน ดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน ในขณะที่ LPG มีการใช้ลดลงลดลงร้อยละ 10.3 สัดส่วนการใช้น้ำมันสำเร็จรูปสูงที่สุด คือ ดีเซล ร้อยละ 42 รองลงมาคือเบนซิน ร้อยละ 18 และการใช้ NGVลดลงร้อยละ 3.3 เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์หันกลับไปใช้น้ำมันแทน ทั้งนี้สอดคล้องกับการคาดการณ์ GDP ในปี2559 ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 เนื่องจากมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น สนพ. จึงได้คาดการณ์การใช้พลังงานภาพรวมของประเทศปี 2559 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 - 3.5 เนื่องจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ "นอกจากนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทย กรณีจัดหาก๊าซไม่ได้ตามแผน PDP 2015 หรือ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าระบบไม่ได้และจัดหาก๊าซไม่ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ขาดเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2560-2568 เพื่อรองรับความต้องการ และคาดว่า Reserve Margin จะต่ำกว่าร้อยละ 15 เนื่องจากไม่มีเชื้อเพลิงเพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติตามแผน PDP" นายทวารัฐ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ