กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์-
หลังจากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-2558) ที่เพิ่งผ่านเสร็จสิ้นไปนั้น ภาคการศึกษามีแนวคิดในการนำรูปแบบการประเมินแบบออนไลน์มาใช้ เพื่อลดภาระด้านเอกสารของสถานศึกษา โดยมีแหล่งสารสนเทศกลางในการจัดเก็บข้อมูลการดำเนินงานของสถานศึกษาซึ่งสอดคล้องกับแผนการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.ที่จะนำการประเมินแบบออนไลน์มาใช้ โดย สมศ.ได้จัดการเสวนาในหัวข้อ การประเมิน Online ในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2558 การประกันคุณภาพการศึกษา ภายใต้ "ก้าวข้ามขีดจำกัด...สู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพ" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ โดยมีนักวิชาการเข้าร่วมนำเสนอความคิดเห็นจำนวนมาก
ผศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ กรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา หนึ่งในผู้เสวนา กล่าวว่า จากรูปแบบการประเมินแบบ Paper-based ไปสู่การประเมินแบบออนไลน์ IT-based มีประโยชน์ในระยะยาวอย่างมากโดยสถานศึกษาสามารถลดภาระด้านเอกสาร และละยังเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการดำเนินงาน และเพิ่มความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์ ในยุคที่แข่งขันกันที่ความเร็ว ทั้งนี้ได้นำเสนอมุมมองการเตรียมพร้อมของสถานศึกษา ผู้ประเมินภายนอก และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถใช้ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตาม 4 เตรียมดังนี้
1) เตรียมปรับแนวคิด เสริมสร้างปัจจัยแห่งความสำเร็จ ให้พร้อมต่อการรับการประเมินแบบออนไลน์
2) เตรียมด้านระบบฮาร์ดแวร์ ระบบเครือข่าย และบุคลากรให้พร้อม
3) เตรียมผู้ประเมินภายนอก ศึกษาหลักการ วิธีการ ฝึกฝนให้เกิดทักษะและความชำนาญในการใช้ระบบ
4) เตรียมผู้เกี่ยวข้องจัดเตรียมระบบฐานข้อมูลที่นำข้อมูลจากหน่วยงานกลางที่มีอยู่แล้วมาใช้ เพื่อเอื้อต่อการติดตามและตรวจสอบคุณภาพการศึกษา
ด้าน นายนายเขมทัต สุคนธสิงห์ คณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอก ด้านการอาชีวศึกษา กล่าวว่า เมื่อก้าวสู่ยุคที่โลกแข่งกันด้วยเวลา ระบบการศึกษาได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมามากมายเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การลงทะเบียนเรียนออนไลน์ การตรวจสอบผลการประเมินผ่านทางเว็บไซต์ และการประเมินผลผู้สอนแบบออนไลน์ โดยหัวใจสำคัญของการประเมินออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องมีลักษณะดังนี้ 1) ข้อมูลที่ได้มาต้องแม่นยำ ครบถ้วน ถูกต้อง เชื่อถือได้ เป็นปัจจุบัน อาจจะต้องมีเรื่องความปลอดภัยและเป็นความลับ 2) ต้องสามารถประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อระบุระดับความสำเร็จของผลการดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพการศึกษา 3) ต้องคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการและแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 เพื่อเสนอแนะสถานศึกษาและต้นสังกัด ในการนำผลประเมินไปใช้ได้ทันที ในการปรับปรุง พัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานของสถานศึกษา
สิ่งที่อยากจะฝาก คือ การทำระบบไอที ต้องวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไปถึงแก่นจริงๆ ไม่ใช่บอกว่าอยากมีไอทีแต่มีแค่สเป็คเฉยๆ แล้วรายงานผล ซึ่งจะทำให้ไม่ได้การรายงานผลที่แท้จริง ต้องลงไปลึกถึงว่าต้นตอของข้อมูลว่ามาได้อย่างไร วิเคราะห์ว่าข้อมูลอะไรที่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ นอกจากการประเมินดังกล่าวจะใช้ในการสะท้อนบริบทและคุณภาพของการศึกษาไทยแล้ว ยังต้องตอบโจทย์การประเมินมาตรฐานอาเซียน มาตรฐานนานาชาติ ซึ่งถือเป็นความท้าทายความสามารถของ สมศ. นายเขมทัต กล่าวทิ้งท้าย
ในมุมมองของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ในฐานะผู้อำนวยการ ตระหนักถึงความพร้อมของแต่ละสถานศึกษาที่มีต่อการประเมินออนไลน์ไม่เท่ากัน ดังนั้นในระยะแรกสถานศึกษาอาจส่งข้อมูล รายงานการประเมินตนเอง (SAR) ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศก่อน และเมื่อมีการพัฒนาระบบฯ แล้ว ทั้งในส่วนของ สมศ. และสถานศึกษา การประเมินในอนาคตจะเริ่มทำการประเมินแบบออนไลน์โดยคัดเลือกจากสถานศึกษาที่อาสาสมัครก่อน หลังจากนั้นเมื่อประเทศไทยมีความพร้อมก็ตั้งเป้าหมายให้ใช้ระบบออนไลน์ทั่วประเทศ ทั้งนี้ประโยชน์ที่ได้จากการประเมินออนไลน์ ไม่ใช่เฉพาะแค่ สมศ. แต่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บข้อมูลให้เป็นระบบฐานข้อมูลของสถานศึกษาทั้งประเทศ ปลูกฝังการเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เป็นงานที่ต้องทำแต่ไม่ใช่ภาระที่ไปกระทบกับการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมคุณภาพทางการศึกษา
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th