กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
ยูเนสโก ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ทรู คอร์ปอเรชั่น และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จัดงานแถลงข่าวเปิด "โครงการส่งเสริมการรู้หนังสือผ่านสื่อพกพาสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา" โครงการด้านการศึกษาโดยใช้สื่อไอซีทีเพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่ผู้เรียนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา นำโดย นายกวางโจ คิม ผู้อำนวยการ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ (ซ้ายสุด), นายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (ที่สองจากซ้าย), นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ / กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (ที่สามจากซ้าย), คุณ ทิน โยว Vice Chairman Myanmar Literacy Resource Center (ที่สองจากขวา) และ ดร.วิรุฬห์ นิลโมจน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ขวาสุด)
เด็กนักเรียนผู้ด้อยโอกาสกว่าพันคนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมากำลังได้รับโอกาสทางการศึกษา และคลังสื่อการเรียนการสอน ภายใต้โครงการของสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ร่วมสนับสนุนโดยไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ทรู คอร์ปอเรชั่น และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในพิธีเปิดโครงการวันนี้
"โครงการส่งเสริมการรู้หนังสือผ่านสื่อพกพาสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา" ได้ดึงศักยภาพอันแข็งแกร่งของทุกภาคีหุ้นส่วนมาร่วมกันพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมของผู้เรียน ในพื้นที่ห่างไกล และขาดแคลนสื่อทางการศึกษา โดยเฉพาะตามพื้นที่ตะเข็บชายแดน
ศูนย์การเรียนภายใต้โครงการฯ จะได้รับวินโดวส์แท็บเล็ต แอพพลิเคชั่น พร้อมการอบรมการใช้สื่อการเรียนการสอนจากไมโครซอฟท์ และยังประกอบด้วยแอพพลิเคชั่นซึ่งพัฒนาโดยยูเนสโกเพื่อกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนในพื้นที่ชายแดน ส่วนทรู คอร์ปอเรชั่น ได้มอบอินเทอร์เน็ตและแพกเกจพร้อมสื่อการเรียนรู้ทรูปลูกปัญญา ในขณะที่สำนักงานกศน. ให้การสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน การจัดอบรม และร่วมดำเนินโครงการ
นายกวางโจ คิม ผู้อำนวยการ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า โครงการนี้ได้สะท้อนกรอบแนวคิดอันสำคัญของประชาคมโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ซึ่งมุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งสร้างเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ประชาชนทุกคน
"ในฐานะสำนักงานเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้ดำเนินภารกิจตามเป้าหมายด้านการศึกษาปี 2573 และมุ่งใช้ศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว" นาย กวางโจ คิมกล่าว "ด้วยพันธกิจนี้ ภาคีหุ้นส่วนทุกฝ่าย จึงร่วมกันดำเนินโครงการอันสำคัญในวันนี้ โดยใช้นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมผู้เรียนที่ด้อยโอกาสมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก... ภายใต้โครงการนี้ พลังแห่งไอซีทีได้ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนระบบการศึกษาในปัจจุบันให้แข็งแกร่ง มีการกระจายองค์ความรู้ การเข้าถึงข้อมูล และระบบการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ"
ดร.วิรุฬห์ นิลโมจน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการฯ ว่า "กศน. ได้มอบสื่อการเรียนการสอนสำหรับครูและนักเรียนต่างด้าว ประกอบไปด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้นำไปบรรจุในแท็บเล็ต และได้มีการร่วมจัดอบรมครูจำนวน 40 ท่าน เกี่ยวกับการใช้สื่อไอซีทีที่ได้รับภายใต้โครงการฯ ตลอดจนสื่อของกศน. อีกด้วย"
สำหรับไมโครซอฟท์นั้น โครงการนี้มีความสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่มุ่งใช้พลังของเทคโนโลยีเพื่อช่วยปฏิรูปและขยายโอกาสทางการศึกษาทั่วโลก นอกจากวินโดวส์แท็บเล็ตของโครงการฯ ที่มาพร้อมกับชุดไมโครซอฟท์ออฟฟิศ รวมถึงแอพพลิเคชั่นด้านการศึกษาแล้ว ไมโครซอฟท์ยังได้สนับสนุนงบประมาณ และการจัดอบรมอีกด้วย
นายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ไมโครซอฟท์ เชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา การยกระดับการศึกษาในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่จะทำให้สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูสู่นักเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการพัฒนาทักษะในการสอนบนสื่อดิจิทัลถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เรามั่นใจว่าโครงการความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับการศึกษาให้กับคุณครูและเด็กๆ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะได้ตระหนักถึงขีดความสามารถของตนเองมากยิ่งขึ้น และพร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาครอบครัว ชุมชน ประเทศและสังคม ให้ก้าวไปได้อย่างยังยืน"
นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ / กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ด้วยความเชื่อว่าความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้คนเติบโตและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เครือเจริญโภคภัณฑ์และทรู คอร์ปอเรชั่น ยินดีและภูมิใจที่ได้ร่วมกับยูเนสโกสนับสนุน โครงการส่งเสริมการรู้หนังสือผ่านสื่อพกพาสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มทรู ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมการสื่อสาร และสื่อต่างๆของกลุ่มทรู ร่วมสร้างประโยชน์และเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้แก่ครูและนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ผ่านโครงการทรูปลูกปัญญา ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนในโครงการทั้งสิ้น 6,000 แห่งทั่วประเทศ ที่รวมถึงโรงเรียนตามแนวชายแดนที่มีนักเรียนสัญชาติเมียนมา มอญ ด้วย โดยการสนับสนุนครั้งนี้ กลุ่มทรู จะติดตั้ง "ชุดอุปกรณ์และสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้" จากโครงการทรูปลูกปัญญา ให้แก่ทั้ง 20 ศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย 1.) ชุดอุปกรณ์รับสัญญาณทรูวิชั่นส์ เครื่องรับโทรทัศน์สี LCD 32 นิ้ว และตู้เก็บอุปกรณ์ พร้อมช่องรายการคุณภาพที่มีเนื้อหาสาระเพื่อการเรียนรู้กว่า 50 ช่อง 2.) สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอน (DVD Digital Content) ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระวิชา ประกอบด้วย ภาษาจีน ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคม พุทธศาสนา (คุณธรรม-จริยธรรม) สำหรับชั้น อ.1 – ม.3 และ 3.) อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายบนเครือข่ายทรูมูฟ เอช ซึ่งสื่อเหล่านี้ จะทำให้เข้าถึงการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์ให้เด็กๆ มีความรู้ทัดเทียมกับเยาวชนอื่นๆทั่วไป ในขณะเดียวกันเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้นโยบาย "ซีพีเพื่อสังคมยั่งยืน" ยังตระหนักถึงการมีภาวะโภชนาการที่ดีของเยาวชน ด้วยเชื่อว่าการมีสุขภาพดีจะช่วยให้มีความพร้อมสำหรับการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น จึงยินดีสนับสนุน"โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน" แก่ศูนย์การเรียนรู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยจะนำร่องที่ศูนย์การเรียนรู้ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่แรก ซึ่งมูลนิธิช่วยไร้พรมแดนจะเป็นผู้ประสานงาน ทั้งนี้ เครือฯได้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันมานานกว่า 25 ปี โดยมีนักเรียนมากกว่า 120,000 คน จาก 540 โรงเรียนทั่วประเทศได้รับคุณค่าอาหารโปรตีนจากไข่ไก่
กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ คือ ผู้เรียนจำนวน 4,000 คน และครูจำนวน 100 คน ซึ่งทางโครงการฯ ได้มอบแท็บเล็ตจำนวน 400 เครื่องให้แก่ศูนย์การเรียนเด็กต่างด้าว และศูนย์การเรียนชุมชนตามตะเข็บชายแดนไทย โดยครอบคลุมกลุ่มผู้เรียน จำนวน 1,440 คน (ผู้เรียน 4 คนต่อแท็บเล็ต 1 เครื่อง) และครูอีกจำนวน 40 คน ในปีหน้า จะมีการส่งมอบแท็บเล็ตจำนวน 700 เครื่อง ให้แก่ผู้เรียน 2,560 คน และครูอีก 60 คน นอกจากนี้ การจัดอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้ครูและผู้เรียนสามารถนำเครื่องมือทางไอซีไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์การศึกษาเพื่อเด็กต่างด้าว เด็กชาติพันธุ์ และเด็กไร้รัฐ หรือ Education for Migrants, Ethnic minorities and Stateless Children:http://emescn.net/ เป็นแหล่งรวมสื่อการเรียนการสอนที่ได้ติดตั้งในแท็บเล็ต และข้อมูลของศูนย์การเรียนเด็กต่าวในประเทศไทย