กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้านโยบายการปฏิรูปการเกษตรว่า หลายๆ นโยบายที่ได้มอบหมายเริ่มเห็นถึงความคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต/เพิ่มโอกาสการแข่งขันที่ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ ได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้เห็นผลชัดเจนถึงแนวทาง มาตรการในการลดต้นทุนการผลิต ในเรื่องปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สำคัญ โดยทั้งสองกระทรวงได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะเร่งดำเนินการลดต้นทุนการผลิต 3 ด้านหลัก ด้านปัจจัยการผลิตกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน จะส่งรายการปัจจัยการผลิต อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ค่าบริการเครื่องจักรกล ค่าอาหารสัตว์/สัตว์น้ำ ฯลฯ ที่จะนำไปหารือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนและส่งให้ สศก. ภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ซึ่งคาดว่า จะประกาศมาตรการลดค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตได้ ภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2558นี้
ขณะที่ด้านพันธุ์/อาหารของปศุสัตว์ และประมงกรมปศุสัตว์ และ กรมประมง จะหารือกับผู้ประกอบการภาคเอกชน ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ และจะส่งผลการหารือให้ สศก. ภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ส่วนในด้านเครื่องจักรกลการเกษตรกระทรวงเกษตรฯ จะประสานกับกรมการค้าภายใน เพื่อลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศมีราคาลดลง
สำหรับเรื่องการตลาด ทั้งสองกระทรวงได้เห็นชอบร่วมกันตั้งผู้รับผิดชอบรายสินค้า หรือ Mr./ Mrs. / Ms สินค้าเกษตร เพื่อร่วมบริหารอุปสงค์อุปทาน และวางแผนการตลาดร่วมกัน
สำหรับการเกษตรแปลงใหญ่ ที่ปัจจุบันมีเกษตรแปลงใหญ่แล้ว 263 แปลง และ แปลงต้นแบบจังหวัดละ 1 แปลง ที่นอกจากจะเน้นในด้านการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การบริหารจัดการ และ การตลาดแล้ว ขณะนี้ได้เริ่มมีการสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตร (Motor Pool) โครงการนำร่อง 20 สหกรณ์ แบ่งเป็น เครื่องเก็บเกี่ยว เครื่องนวด เครื่องสี สำหรับพื้นที่ปลูกข้าว 10 แห่ง และเครื่องเก็บเกี่ยว เครื่องนวด เครื่องสี สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10 แห่ง และตั้งเป้าหมายการขยายตัวให้มากกว่านี้ ประมาณ 1,500 แปลง
พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการเพิ่มโอกาสการแข่งขันสินค้าเกษตร ประเด็นที่ทั้งสองกระทรวงจะบูรณาการการทำงานร่วมกันให้มากขึ้น ใน 3 เรื่องเร่งด่วน คือ 1. เกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการส่งเสริมตลาดเกษตรอินทรีย์ และระบบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อการค้า 2. โซนนิ่ง โดยเฉพาะการวิเคราะห์ความต้องการสินค้าเกษตร (อุปสงค์) เพื่อวางแผนการผลิตตามเขตที่เหมาะสมทางกายภาพ 3. ตลาดรองรับผลผลิตพืชทดแทนข้าวนาปรังปี 2558/59 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เป็นต้น