กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
เป็นเวลาสี่ปีแล้ว ที่ชาวบ้านชุมชนบ้านเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในโครงการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชนบ้านเขาสมอคอน ได้เลือกทำนาและปลูกพืชแบบอินทรีย์ในการประกอบอาชีพหลักและอาชีพเสริม ด้วยมุ่งหวังว่าวิถีเกษตรแบบอินทรีย์จะนำพาพวกเขาไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง และด้วยความทุ่มเทและความเอาใจใส่ของชาวบ้าน ประกอบกับความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ทำให้ชาวบ้านสามารถพัฒนาแบรนด์ข้าวสินเหล็ก"ข้าวกล้องอินทรีย์สินเหล็ก เขาสมอคอน" เป็นของตนเองได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากภัยแล้งกลับทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกข้าวต่อได้อีกในปีนี้ แทนที่จะสิ้นหวังหรือรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐแต่ฝ่ายเดียว ชาวบ้านกลับรวมกลุ่มกันหาทางเลือกในการปรับพื้นที่ทำนาให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน ริเริ่มทำการเกษตรแบบผสมผสาน
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดกิจกรรมการอบรม ในหัวข้อ "การทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานและการพัฒนาสินค้าเกษตรอย่างมืออาชีพ" ให้แก่ชาวชุมชนบ้านเขาสมอคอน เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เพิ่มเติมความรู้และเกิดแรงบันดาลใจจากเกษตรกรผู้มากประสบการณ์ในการนำแนวทางไปต่อยอดและประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์สภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่แน่นอน อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการทำการเกษตรแบบพอเพียงเพื่อการจัดสรรที่ดินของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "บ้านปูฯ เชื่อว่า พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา การศึกษาและการเรียนรู้ คือ พลังสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์และการพัฒนาที่ยั่งยืนของ "คน" และ "สังคม" ในระยะยาว
ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนิน "โครงการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนชุมชนบ้านเขาสมอคอน" ซึ่งเป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ตลอดจนพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงองค์กรเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ และเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับชุมชน โดยพิจารณาข้อมูลพื้นฐานของท้องถิ่น ศักยภาพของชุมชน และความสนใจในการพัฒนาของกลุ่มต่างๆ ในการสร้างสรรค์กิจกรรม"
นางอุดมลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า "หลังจากที่ชาวบ้านได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวกล้องแบบอินทรีย์ และการปลูกมะนาวนอกฤดูแล้ว บ้านปูฯ มองต่อไปถึงการสร้างโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนได้ต่อยอดความรู้เพื่อให้นำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่และผลิตภัณฑ์ของชุมชนเขาสมอคอน โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูทำนา เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้ เราได้เชิญผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านการลองผิดลองถูกมาตั้งแต่ต้นด้วยตนเองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวชุมชน เพื่อที่จะแบ่งปันมุมมองและบทเรียนตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวบ้าน เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานและการพัฒนาสินค้าเกษตรในระดับวิสาหกิจชุมชนให้ประสบความสำเร็จ และทำให้ชาวบ้านกล้ามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันมากขึ้น"
นายพนมเทียน ทองสิทธิ์ วัย 45 ปี เกษตรกรเจ้าของสวนเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานกว่า 31 ไร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์และอดีตนักธรณีวิทยาฝ่ายสำรวจของบมจ.บ้านปู ในฐานะผู้แบ่งปันประสบการณ์ในกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า "เกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานเป็นระบบเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยให้พืชแต่ละชนิดเกื้อกูลกันและกันให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากความหลากหลายของพืชและสัตว์จะช่วยให้เกิดสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมและความอุดมสมบูณ์ของพื้นที่แล้ว การเกษตรที่หลากหลายยังช่วยเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ และลดการพึ่งพารายได้จากผลผลิตเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ช่วงที่ทำนาไม่ได้ สามารถปลูกพืชที่ต้องการน้ำน้อยกว่าข้าว และนำสิ่งที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติมาทำปุ๋ยโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ทั้งนี้ตนรู้สึกประทับใจในความมุมานะของชาวบ้านต่อการทำนาแบบอินทรีย์ ซึ่งได้ผลผลิตน้อยกว่าการทำนาที่ใช้สารเคมี และมั่นใจว่าด้วยความมุ่งมั่นจริงจัง ชุมชนบ้านเขาสมอคอนจะสามารถเดินหน้าสู่การเกษตรแบบยั่งยืนอย่างแท้จริง"
นายบุญชู คุ้มม่วง อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลเขาสมอคอน ว่า "รู้สึกประทับใจกับกิจกรรมนี้มาก เพราะช่วยให้มองเห็นโอกาสที่จะสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้จริง ต่อยอดจากการปลูกข้าวสินเหล็กและมะนาวนอกฤดู ในอนาคต คิดว่าอยากแปรรูปผลผลิตมะนาว ที่จะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกแบบอินทรีย์และการพัฒนามะนาวเป็นสินค้าโอทอป (OTOP) ต่อไป นอกจากนี้ กิจกรรมนี้ยังเปิดกว้างให้ชาวบ้านได้คิดและเกิดความเชื่อมั่นว่าพวกเราเองก็สามารถทำได้ทั้งการเกษตรแบบผสมผสานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง รวมไปถึงสร้างประโยชน์จากที่ดินของตนได้มากขึ้น เพียงแต่ต้องมีการวางแผนและการเตรียมตัวที่ดี ซึ่งบ้านปูฯ ก็ได้นำองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์มาให้และคอยให้คำปรึกษาอยู่เสมอ และที่สำคัญทุกกิจกรรมได้มีการช่วยพัฒนาต่อยอดความรู้ให้กับเราอย่างค่อยเป็นค่อยไป"
นอกเหนือจากการบรรยายให้ความรู้ด้านการทำเกษตรแบบผสมผสานแล้ว บ้านปูฯ ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน และการทำตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านได้เริ่มคิดถึงแผนประกอบอาชีพในอนาคต และต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย
นางอรุณ ศรีเสริม อายุ 47 ปี และสมาชิกกลุ่มแม่บ้านทำขนมกล้วยกรอบแก้ว หมี่กรอบสมุนไพร กล่าวว่า หัวข้อการพัฒนาสินค้าเกษตรในด้านบรรจุภัณฑ์และการทำการตลาดทำให้ตนเห็นภาพของขั้นตอนการขอมาตรฐานต่างๆ อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะวิทยากรเป็นผู้รู้ที่ลงมือทำมาแล้วด้วยตนเองมาให้คำปรึกษา ทั้งยังได้สาธิตและอธิบายขั้นตอนการทำอย่างละเอียดด้วย กิจกรรมของบ้านปูฯ ในครั้งนี้ช่วยให้มองเห็นช่องทางสร้างรายให้กับตนเองและกลุ่มแม่บ้าน โดยมีแผนที่จะชักชวนสมาชิกในกลุ่มให้ไปจดทะเทียนรับรองต่างๆ กันอย่างจริงจังเร็วๆ นี้
"บ้านปูฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมส่งเสริมทักษะและความรู้ที่เรามอบให้จะช่วยให้ชาวบ้านสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเองต่อไป และมีการส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น โดยความมุ่งหวังของบ้านปูฯ ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ การชี้แนวทางและมอบโอกาส แต่ให้ชาวบ้านได้คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และลงมือทำด้วยตัวเอง เพราะสิ่งนี้จะก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ เกิดความภูมิใจต่อเนื่องไปสู่การพึ่งพาตนเองและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน" นางอุดมลักษณ์กล่าวสรุป