กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--โฟร์พีแอดส์ (96)
กระทรวงสาธารณสุข นำระบบบริหารคุณภาพพัฒนาห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และรังสีวินิจฉัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการตรวจวินิจฉัย นำข้อมูลหรือผลวิเคราะห์มาใช้ประโยชน์ในการรักษา และควบคุมป้องกันโรคได้อย่างทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาการสาธารณสุขให้คนไทยทุกคนได้รับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพเท่าเทียมกัน โดยนำระบบบริหารคุณภาพมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมคุณภาพของงาน ทั้งการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ หรืองานบริการอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน สำหรับบริการประชาชน โดยให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานบริการสำหรับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัย การพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการ รวมถึงการสร้างกระบวนการรับรองระบบบริหารคุณภาพ เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขประสบความสำเร็จ
ที่ผ่านมา การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มีหลากหลาย เช่น มาตรฐานงานเทคนิคการแพทย์ หรือ LA และมาตรฐานสากล ISO 15189 ทำให้ห้องปฏิบัติการผ่านการรับรองเพียงร้อยละ 53 เมื่อ กำหนดกระบวนงานการพัฒนาและรับรองที่เป็นขั้นตอนตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ผ่านการรับรองสะสมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 521 แห่ง และเมื่อรวมกับการรับรองตามมาตรฐานอื่นๆ ทำให้ขณะนี้จำนวนผ่านมาตรฐานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 98 จากจำนวนทั้งหมด 916 แห่ง ส่วนห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัย ขณะนี้ได้รับการรับรองสะสมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 640 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82 จากจำนวนทั้งหมด 780 แห่ง โดยจะพัฒนาให้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมดต่อไป
ด้านนพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานบริการสำหรับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัย กำหนดเป็นโครงการระดับตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2557 เป็นการวางรากฐานของการพัฒนาระบบคุณภาพให้แก่ห้องปฏิบัติการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยจัดทำคู่มือคุณภาพในการพัฒนาห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล สร้างกระบวนงานตรวจประเมินระบบคุณภาพที่อาศัยความร่วมมือของเครือข่าย และให้มีการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัย เพื่อยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และรังสีวินิจฉัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการตรวจวินิจฉัย เพื่อนำข้อมูลหรือผลวิเคราะห์มาใช้ประโยชน์ในการรักษา และควบคุมป้องกันโรคได้อย่างทันต่อสถานการณ์