กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สำนักงาน กปร.
เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน แก่พสกนิกรชาวไทยเพื่อนำมาเป็นแนวทางเพื่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ รวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศ เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงชีวิต และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับตั้งแต่ ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการดำรงชีวิตประจำวัน การพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนิน ไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวหน้าต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง (Self Sufficiency) อยู่ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น ซึ่งต้องสร้างพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน มีความพอกินพอใช้สามารถพึงพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าและ ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศได้ เป็นปรัชญาที่ทุกๆ คนสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ตลอดจนบริษัท ห้างร้าน สถาบันต่างๆ ทั้งนอกภาค การเกษตรและในภาคการเกษตร เพื่อดำรงชีวิตและพัฒนาธุรกิจการค้าได้
โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท ภายใต้หลักการ 3 ประการ คือ 1.ความพอประมาณ 2.ความมีเหตุผล และ 3.การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
การดำเนินงานเศรษฐกิจพอเพียงที่ดีจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ความรู้ และคุณธรรม ตลอดจนเป็นคนดี มีความอดทน พากเพียร ตัดสินใจเกี่ยวกับการดำรงชีวิต การดำเนินธุรกิจอย่างพอเพียงตามความสามารถ และศักยภาพของตนที่มีอยู่และต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลที่เหมาะสมตลอดจนพึงนึกถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ มีการเตรียมความพร้อมและความรู้ ที่จะรับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลง
จากวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผ่านมาเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่า แนวทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาของไทยยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจที่กล่าวข้างต้นได้ เพราะเกิดการไม่มีเสถียรภาพอย่างรุนแรง การชะงักงันของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันสูงขึ้น โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ปราศจาการภิคุ้มกันที่ดี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยและสังคมไทยนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ในทุกระดับในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ความว่า
"...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป..."
ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สู่ความสมดุลและยั่งยืน และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ครั้งที่ 1/2559 โดยมีหม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เลขาธิการ กปร. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานตามภารกิจของ สำนักงาน กปร. ในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปีงบประมาณ 2559
การนี้ หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เลขาธิการ กปร. เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2559 นี้ สำนักงาน กปร. ได้ดำเนินงานสนองนโยบายรัฐบาลในการเป็นเจ้าภาพหลักเพื่อดำเนินงานตามยุทธ์ศาสตร์ที่ 1 ในการส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรและชนบท โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ. 2557 – 2560) ขึ้น โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 24,086 หมู่บ้าน พร้อมจัดทำคู่มือการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรและชนบท และจัดให้มีการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทราบอีกด้วย