กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2
คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เตรียมเปิดกว้าง ลดขั้นตอน และลำดับความสำคัญใหม่ เพื่อให้ใช้เงินกองทุนได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมเร่งอาคารของรัฐเป็นตัวอย่างในการประหยัดพลังงาน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีนายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (17 พ.ค. 2544) ซึ่งที่ประชุมได้สรุปดังนี้
คณะกรรมการกองทุนฯ ได้เห็นชอบกำหนดเป้าหมายของการอนุรักษ์พลังงานในช่วง 5 ปีข้างหน้าอย่างชัดเจนคือ ลดการใช้พลังงานในที่อยู่อาศัย คิดเป็นพลังงานเทียบเท่า 128 ล้านลิตรน้ำมันดิบ/ปี ในโรงงานและอาคารควบคุมลดการใช้ไฟฟ้า 1,055 ล้าน kWh/ปี และ 160 ล้านลิตรน้ำมันดิบ/ปี ในสาขาขนส่ง 1,744 ล้านลิตรน้ำมันดิบ/ปี การส่งเสริมกลุ่ม SMEs จำนวน 50,000 ราย รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 16.4 เมกะวัตต์ พลังงานชีวภาพ 29,200 ตันเทียบเท่า LPG/ปี และพลังงานชีวมวล 452 ล้านลิตรน้ำมันดิบ/ปีสำหรับแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน สพช.ได้เสนอให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมดำเนินการเพื่อให้การนำแผนอนุรักษ์พลังงานไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลได้เร็วขึ้น และเห็นควรปรับปรุงขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการสนับสนุนจากกองทุน โดยการแบ่งงานออกเป็นกลุ่มๆ ตามสาขาพลังงาน เช่น กลุ่มโรงงานและอาคารควบคุม กลุ่มขนส่ง กลุ่ม SMEs กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มพลังงานชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีคณะทำงานกำกับดูแลให้การดำเนินงานของกลุ่มนั้นๆบรรลุเป้าหมาย โดยการจัดทำแผนการดำเนินงานในกลุ่มของตนเอง ทั้งในเรื่องการเผยแพร่เทคโนโลยี การศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการประชาสัมพันธ์ ซึ่งแนวทางในการดำเนินงานในรูปแบบใหม่นี้ สพช. มั่นใจจะทำให้งานบรรลุเป้าหมายได้
นอกจากนั้นคณะกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบแนวทางในการประกาศนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้า อาทิ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ชีวมวล และขยะ โดยกองทุนฯ จะชดเชยส่วนต่างจากราคารับซื้อของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผลิตไฟฟ้ารายเล็ก กับราคาที่เอกชนเสนอขายไม่เกินยูนิตละ 36 สตางค์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในประเทศให้มากขึ้น โดยตั้งวงเงินไว้ 2,060 ล้านบาท เป้าหมายในการผลิตกระแสไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี
สำหรับอาคารของรัฐ ที่ประชุมได้กำหนดให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) เป็นผู้รับผิดชอบติดตามให้มีการปฏิบัติเช่นเดียวกับอาคารของเอกชน ตาม พ.ร.บ.เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการกำหนดมาตรการจูงใจ โดยอาจนำเงินที่ประหยัดพลังงานได้มาใช้เป็นเงินโบนัสราชการ หรือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมินผลงานปลายปีของหน่วยราชการ เป็นต้น รวมทั้งอาจนำมาตรการลงโทษมาใช้ด้วย คือกำหนดให้มีค่าไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากปกติ หรือ Surcharge โดยไม่อนุญาตให้โยกย้ายงบประมาณจากหมวดอื่นเป็นมาค่าไฟฟ้าได้ ส่วนการออกแบบอาคารใหม่ของรัฐจะต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยการประสานงานกับสำนักงบประมาณเพื่อจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ" เลขาธิการ สพช. กล่าว
ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 โทรศัพท์ 6121555 ต่อ 201-5 โทรสาร 6121368121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.nepo.go.th-- จบ--
-อน-