กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
มูลนิธิสยามกัมมาจล
"หัวใจ" ของการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชน คือ การให้สมาชิกในแต่ละชุมชนหรือหมู่บ้านขับเคลื่อนกิจกรรมของตัวเองได้ โดยมีผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกอบต. คณะกรรมการแต่ละหมู่บ้าน และผู้ใหญ่ใจดี เป็นแกนหลักในการทำงาน นี่คือหลักในการทำงานขององค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย โดยการนำของนาย พีระศักดิ์ มาตรศรี นายกอบต. และนายชัยวัสส์ แย้มสุข ปลัดอบต. พุ่งเป้าไปที่ "เยาวชน" ใช้โครงงานเป็นฐานในการพัฒนาหวังให้ "อนาคตของชุมชน" พัฒนาศักยภาพตนเองกลายมาเป็นกำลังหลักของบ้านและชุมชนต่อไป
"เป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนที่เน้นสร้างความรัก ความสามัคคี และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่เด็กแล้ว กิจกรรมของเด็กยังดึงความสนใจของผู้ปกครองและผู้ใหญ่ให้มาทำกิจกรรมร่วมกันได้อีกทางหนึ่ง จนพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและสนิทสนมกันมากขึ้น กลับกลายเป็นว่าโครงงานของเด็กช่วยสร้างอาชีพเสริมให้ผู้ใหญ่ และส่วนหนึ่งเป็นค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ ให้เด็กและเยาวชน" นายชัยวัสส์ แย้มสุข เกริ่นที่มา
อบต.พลับพลาไชย เริ่มจากคัดเลือกแกนนำเยาวชนประมาณ 20 คน ที่สนใจร่วมพัฒนาชุมชนโดยการทำโครงงาน ได้แก่ 1.โครงการเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ 7 ดูแลโดย ดาว - ณัฐณิชชาญา แก้วปาน รองปลัดอบต. 2.โครงงานการเล่นดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสากล โรงเรียนพลับพลาไชย ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสถึง ม.3 ดูแลโดย เอก - เอกวิทย์ ชาวสวน หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ3.โครงงานปั่นสร้างสุข หมู่ 6 ดูแลโดยม้อย - ชรินรัตน์ มณีวงษ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป 4.โครงงานปลูกป่าจิตอาสา หมู่ 11 ดูแลโดย แป้ง - อรุณรัตน์ ป้อมทอง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน และ 5. โครงงานการแสดงวิถีชีวิต "ชาติพันธุ์ ลาวเวียง" โรงเรียนโพธิ์ทองเจริญ ดูแลโดยกบ - วิรัชดา ศรีคำแหง นักวิชาการ โดยมีนักถักทอชุมชนลงไปรับผิดชอบ
ดาว - ณัฐณิชชาญา แก้วปาน ได้เล่าถึงโครงการเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ 7 จุดเริ่มต้นจากฐานการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วในชุมชน ทั้งการเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงแพะ การปลูกผักปลอดสารพิษ และการทำแก๊สชีวภาพใช้ในครัวเรือน"เด็กเสนออยากทำโครงการนี้เอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลชุมชนที่เราสืบค้นมา กิจกรรมที่สอนให้เด็กทำมีทั้งการเพาะถั่วงอก เพาะเห็ด และการทำไข่เค็ม เด็กๆ จะมาทำกิจกรรมร่วมกันที่ศาลาหมู่บ้านทุกวันอาทิตย์ แต่การเพาะเห็ดเราจะคัดเลือกเด็กโตให้เอาเชื้อเห็ดไปเพาะที่บ้าน เป็นการสนับสนุนให้เขาเรียนรู้และทำด้วยตัวเอง ให้ผู้ปกครองได้เห็นและเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ผลที่เห็นได้ชัดคือเด็กจะขยันและรับผิดชอบมากขึ้น ช่างสังเกต กล้าพูด กล้าแสดงออก บางคนมีภาวะผู้นำชัดขึ้น พ่อแม่ก็มาสะท้อนว่าปกติลูกจะตื่นสายแต่ตอนนี้กลายเป็นว่ามาตื่นเช้าเพราะต้องมาดูแลเห็ดค่ะ"
ส่วน โครงงานการเล่นดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสากล โรงเรียนพลับพลาไชย เกิดจากอบต. ครูภูมิปัญญา ผู้นำในชุมชน และสถานศึกษา ที่อยากมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน "พื้นที่โรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนของชาวลาวเวียง ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่อพยพมาตั้งรกรากที่นี่ การสอนให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ ทำให้เขาได้กลับไปรู้จักรากเหง้าที่ไปที่มาของตนเอง ทำให้เกิดความรัก หวงแหนในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง" เอก - เอกวิทย์ ชาวสวน กล่าวถึงวัตถุประสงค์
และโครงงานยอดฮิต โครงงานปั่นสร้างสุข ที่เป็นกิจกรรมสนุกๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าร่วมกันเพียบ "การปั่นจักรยานของเรามีเป้าหมายเพื่อให้เด็กเรียนรู้ชุมชน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ และได้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติชุมชน ประโยชน์ของพืชสมุนไพรและป่าไผ่ ที่หมู่บ้านเรามีการปลูกไผ่หวานกันเด็กจะได้รู้จักและพาเด็กไปเรียนรู้การทำขนมจีนและกล้วยฉาบด้วย"ม้อย - ชรินรัตน์ มณีวงษ์ เล่าให้ฟัง
ส่วนโครงงานปลูกป่าจิตอาสา ที่เกิดขึ้นเพราะพื้นที่หมู่ที่ 11 มีพื้นที่อยู่ใกล้กับป่า ช่วงหลังเกิดการบุกรุกและทำลายกันมากขึ้น จึงคิดที่จะปลูกฝังให้เด็กและคนในชุมชนรักและหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน "พอเด็กเข้ามาทำโครงงานนี้อย่างแข็งขันทำให้ผู้ใหญ่ได้ฉุกคิด และเข้ามาช่วยโครงงานนี้กันมากขึ้น"
"โป๊ะ-ณัฐกานต์ ผิวดีอ่อน" นักเรียนชั้น ม.3 และ เอส - สดายุ โรจน์บุญถึง นักเรียนชั้น ม. 1 โรงเรียนอู่ทองศึกาลัย เป็นตัวแทนเยาวชนร่วมสะท้อนความรู้สึกว่า "นอกจากได้ความสนุกแล้ว ยังได้ทำกิจกรรมปลูกต้นไม้อีกด้วย "พวกเราอยากปลูกต้นไม้ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนมาก็รู้ชุมชนเรามีป่าอยู่นะ แต่ไม่รู่ว่ามีคนมาตัดไม้ทำลายป่า พอรู้อย่างนี้เราก็อยากมาทำกิจกรรม อยากมีส่วนช่วยดูแลชุมชน เราได้ความรู้จากผู้ใหญ่ในชุมชนด้วย"
ผู้ใหญ่ใจดีอย่าง "มณฑล สาลี" ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ได้ร่วมสะท้อนว่า "เด็กในชุมชนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยรู้จักกันต่างคนต่างอยู่ พอมีกิจกรรมอย่างนี้ทำให้เด็กได้มารวมตัวกันและรู้จักกันทำให้ชุมชนเราเข้มแข็งขึ้น"
นี่เป็นเพียงเป้าหมายระยะเริ่มแรกที่อบต.พลับพลาไชย กำลังทำอยู่ แต่เป้าหมายในระยะยาว คือ เด็กจะต้องไม่เป็นภาระของสังคม รู้ร้อนรู้หนาวที่จะแก้ปัญหาของชุมชน มีความเข้มแข็ง แข็งแรงที่จะช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า และถ่ายทอดคุณลักษณะและประสบการณ์ที่เรียนรู้ของตนให้น้องๆ รุ่นต่อๆไป หากทำแบบนี้ได้ ตำบล ประเทศ ก็จะเต็มไปด้วยคนที่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจและสังในภาพรวมก็จะดีขึ้นเป็นเงาตามตัว" นายเอกวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
นี่คือผลผลิตของหลักสูตร "นักถักทอชุมชน" ซึ่ง อบต.พลับพลาไชย เป็น 1 ใน 33 อปท. ที่นำร่องแนวคิด "ชุมชน ท้องถิ่นจัดการตนเอง" ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (4ภาค) หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย # ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่www.scbfoundation.com