บัวนา วิสต้า อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิใจเสนอภาพยนตร์แอนิเมชั่นคลาสสิคตลอดกาลของวอลท์ ดิสนีย์พิค "Beauty and the Beast "

ข่าวทั่วไป Friday December 7, 2001 14:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--บัวนา วิสต้า อินเตอร์เนชั่นแนล
BEAUTY AND THE BEAST โฉมงาม กับ เจ้าชายอสูร
กำหนดฉาย 1 มกราคม 2545เฉพาะโรงภาพยนตร์ กรุงไทย IMAX PRODUCTION NOTES
ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 10 ...Beauty and the Beast แอนิเมชั่นคลาสสิคตลอดกาลของวอลท์ ดิสนีย์พิคเจอร์ส กลับมาเปิดตัวในฉบับพิเศษบนจอยักษ์เป็นครั้งแรกทั่วโลก พร้อมเพิ่มความตื่นตะลึงด้วยฉากใหม่เอี่ยมความยาว 6 นาทีกับบทเพลง "Human Again" จากปลายปากกาของนักแต่งเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง โฮเวิร์ด แอชแมน และ อลัน เมนเคน ขณะที่ตัวหนังได้รับการนำกลับมาปรับปรุงคุณภาพอีกครั้งในระบบดิจิตอลทีละเฟรมเพื่อให้สมกับการฉายในรูปแบบจอยักษ์ โดยศิลปินและช่างเทคนิคระดับแนวหน้าของดิสนีย์ทีมเดิมจาก Beauty and the Beast นำโดย ผู้อำนวยการสร้าง ดอน ฮาห์น กับสองผู้กำกับ เคิร์ค ไวส์ และ แกรี่ ทรูสเดล ได้ทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ในการลบร่องรอยของต้นฉบับ และเพิ่มรายละเอียดตลอดจนเอฟเฟ็กต์และแอนิเมชั่นใหม่ๆสำหรับโอกาสนี้ นอกจากนั้น ทีมแอนิเมเตอร์เดิมเกือบทั้งหมดยังร่วมกันสร้างฉากใหม่ๆและผู้ให้เสียงพากย์ตัวละครเอกได้แก่ เพจ โอฮาร่า, ร็อบบี้ เบนสัน, แอนเจล่า แลนส์บูรี่, เจอรี่ ออร์บาช, เดวิด อ๊อกเดน สเตียร์ส และ โจ แอนน์ วอร์ลี่ย์ กลับมารับบทบาทเดิมอีกครั้ง เช่นเดียวกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการบันทึกเสียงของหนังเรื่องนี้ซึ่งเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วก็กลับมาดูแลการมิกซ์เสียงใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับระบบเสียงของรูปแบบจอยักษ์ รวมทั้งมีการนำฟิล์มใหม่และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นเข้ามาปรับปรุงคุณภาพของหนังฉบับนี้ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นด้วย
Beauty and the Beast เป็นแอนิเมชั่นเรื่องที่ 2 เท่านั้นของดิสนีย์ที่สร้างด้วยดิจิตอล โดยอาร์ตเวิร์คและองค์ประกอบต่างๆของหนังฉบับเดิมถูกเก็บไว้ในเทป 8 มม.ในระบบดิจิตอลและถ่ายโอนไปบันทึกไว้ใน CD-ROM 9,000 แผ่นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสื่อประเภทหลังนี้เองที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการสร้างในรูปแบบขนาดใหญ่ 3 เวอร์ชั่นที่สามารถฉายได้ทั้งในโรง IMAX(r) และโรงจอยักษ์อื่นๆ กล้องและเครื่องพิมพ์ฟิล์มถูกนำมาใช้ปรับรูปแบบของหนังต้นฉบับเพื่อใช้สำหรับโรงจอยักษ์และพิมพ์พรินต์ใหม่ (ในขนาด 8 และ 15 รูหนามเตยต่อเฟรม) ซึ่งจะทำให้เกิดเสียงที่คมชัดและมีมิติแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
เมื่อคราวออกฉายครั้งแรกในปี 1991 นั้น Beauty and the Beast ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่บนบ๊อกซ์ออฟฟิศ (โดยเป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่สามารถทำรายได้เกิน 100 ล้านดอลล่าร์ได้จากการฉายครั้งแรกเพียงครั้งเดียว) ทั้งยังกลายเป็นหนังเรื่องโปรดของผู้ชมทั่วโลกและนับเป็นก้าวสำคัญยิ่งสำหรับวงการศิลปะแอนิเมชั่นด้วย หนังเรื่องนี้เป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกและเรื่องเดียวนับถึงปัจจุบันที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและสามารถคว้ารางวัลลูกโลกทองคำในสาขาภาพยนตร์ตลก/เพลงยอดเยี่ยมมาได้ นอกจากนั้น ยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ปี 1992 ถึง 6 สาขาโดยทำสำเร็จในสาขาเพลงยอดเยี่ยม ("Beauty and the Beast") กับดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (ประพันธ์โดย อลัน เมนเคน) และได้รับการยกย่องจากวงการดนตรีด้วยการชนะรางวัลแกรมมี่ถึง 2 รางวัล
Beauty and the Beast ฉบับออกฉายครั้งแรก ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์มากมาย และยังมีบทบาทสำคัญในการปลุกกระแสความสนใจต่อหนังเพลงอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น หนังยังช่วยฟื้นฟูวงการละครเพลงบรอดเวย์และได้รับการนำไปสร้างเป็นละครเพลงในปี 1994 โดยเวอร์ชั่นที่ อลัน เมนเคน แต่งเพลงใหม่ (ร่วมกับ ทิม ไรซ์ ผู้แต่งเนื้อร้อง) นี้ เปิดแสดงในบรอดเวย์มาแล้วกว่า 3,000 รอบและยังคงแสดงอยู่จนถึงปัจจุบัน นับเป็นผลงานที่มีอายุการแสดงยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 10 ในประวัติศาสตร์ของบรอดเวย์ ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโทนี่ถึง 9 สาขา (และชนะในสาขาเครื่องแต่งกาย) ขณะที่เวอร์ชั่นเดินสายก็ได้กระจายตัวออกเปิดแสดงทั่วอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นๆอย่างอังกฤษ, เยอรมัน, สเปน และญี่ปุ่น
ความเยี่ยมยอดของ Beauty and the Beast นั้นไม่ผิดไปจากที่ แฟรงค์ ริช นักวิจารณ์ละครเวทีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของนิวยอร์ค (จากนิวยอร์คไทม์ส) ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "ดนตรีประกอบที่ดีที่สุดในบรรดาละครเพล-ตลกของบรอดเวย์ประจำปี 1991 คือเพลงอะไร? ไม่มีข้อกังขาเลยว่า คำตอบก็คือ ดนตรีที่ อลัน เมนเคน กับ โฮเวิร์ด แอชแมน แต่งให้แก่หนังดิสนีย์เรื่อง Beauty and the Beast ซึ่งเปิดฉายสัปดาห์นี้นั่นเอง" โดยกล่าวด้วยว่า "ผลงานของพวกเขายิ่งย้ำเน้นให้เราได้เห็นชัดถึงสิ่งที่ขาดหายไปในละครเพลงของบรอดเวย์"
ยีน ซิสเกล นักวิจารณ์ชื่อดังผู้ล่วงลับไปแล้ว มอบคำชื่นชม "thumbs up" ให้กับหนังเรื่องนี้ พร้อมประกาศว่า "หนังเพลงล้มหายตายจากไปจากวงการหนังอเมริกาตลอดระยะ 20 ปีที่ผ่านมา แต่นี่คืองานที่ปลุกชีวิตให้แก่มันอีกครั้งด้วยบทเพลงอันยอดเยี่ยมซึ่งสมบูรณ์พร้อมในทุกรายละเอียด" ขณะที่ เจมี่ เบอร์นาร์ด แห่ง นิวยอร์คโพสต์ เขียนว่า "สิ่งที่น่าอัศจรรย์ที่สุดในหนังเรื่องนี้ก็คือ แคแร็คเตอร์แอนิเมชั่นและการใช้ 'มุมกล้อง' อย่างซับซ้อน ดังเช่นฉากที่พาเราหมุนวนจากโคมระย้าลงหาตัวละครนำทั้งสองซึ่งกำลังเต้นรำกันอยู่ในห้องบอลล์รูมโล่งกว้าง"
ที่เหนืออื่นใด ความสำเร็จของ Beauty and the Beast ส่งผลให้แผนกแอนิเมชั่นขนาดยาวของดิสนีย์เติบโตขึ้นมากและช่วยเสริมพลังแก่การฟื้นคืนที่เริ่มขึ้นมาแล้วตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้านั้นกับ The Little Mermaid (ซึ่งมีเพลงที่แต่งโดยแอชแมนกับเมนเคนเช่นกัน) หนังแอนิเมชั่นเริ่มได้รับความสนใจในฐานะกระบวนการสร้างภาพยนตร์ที่จริงจังโดยเฉพาะในด้านศิลปะ โดยดิสนีย์เดินตามความสำเร็จนี้ด้วยผลงานแอนิเมชั่นเพลงอย่าง Aladdin, The Lion King, Pocahontas, The Hunchback of Notre Dame, Hercules, Mulan และ Tarzan
โธมัส ชูมาเคอร์ ประธาน Walt Disney Feature Animation และ Buena Vista Theatrical Group กล่าวถึงความนิยมอันยืนยงที่ Beauty and the Beast ได้รับว่า "แก่นของหนังเรื่องนี้มีบางสิ่งที่ลึกซึ้งมาก บางสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างเบลล์กับเจ้าชายอสูร และบางสิ่งเกี่ยวกับประเด็นที่บทเพลงกล่าวถึงผู้คน ไม่เฉพาะแต่ท่าทีเชื้อเชิญดังในเพลง 'Be Our Guest' เท่านั้น แต่ยังมีประเด็นว่าด้วยอำนาจแห่งความรัก ความรักซึ่งมีพลังในการเยียวยารักษาและคนทุกคนที่ได้ดูหนังหรือละครเวทีเรื่องนี้ก็ล้วนดื่มด่ำกับมันอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าเราจะอยู่ในยุคสมัยไหนหรือคุณจะรับฟังมันในภาษาใด มันก็ยังคงเป็นถ้อยความที่เป็นจริงเสมอ"
รอย เอ็ดเวิร์ด ดิสนีย์ รองประธานบริษัท Walt Disney Company ยอมรับว่า "Beauty and the Beast เป็นหนังเรื่องโปรดของผมในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เพราะเป็นผลงานที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง อีกทั้งสำหรับทุกคนที่ทำงานชิ้นนี้ก็ยังมีความรู้สึกเหมือนหนึ่งครอบครัวเดียวกันด้วย นี่เป็นหนังฟอร์มใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยทำมาและการได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ก็ยิ่งทำให้มันพิเศษมากสำหรับพวกเราทุกคน หนังไปฉายในเทศกาลนิวยอร์คฟิล์มเฟสติวัลกับคานส์และได้รับการยืนปรบมือด้วยความชื่นชมจากทั่วโลก เรื่องราวของ Beauty นั้นดึงดูดใจให้เราทำเป็นหนังอย่างยิ่งและ โฮเวิร์ด แอชแมน กับ อลัน เมนเคน ก็ช่วยสร้างอารมณ์แบบละครตลกบรอดเวย์ได้อย่างยอดเยี่ยม ผลงานที่เกิดขึ้นจึงมีพร้อมทั้งความเป็นเทพนิยายและสอดคล้องกับขนบของเรา แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความสดใหม่ซึ่งสามารถมัดใจผู้ชมทั่วโลก"
สำหรับความคิดเห็นต่อการเปิดฉายในรูปแบบจอยักษ์เป็นครั้งแรกนั้น ดิ๊ค คุ้ก ประธาน Walt Disney Motion Pictures Group กล่าวว่า "การฉลองครบรอบปีที่ 10 ของ Beauty and the Beast นับเป็นวาระน่าตื่นเต้นมากเพราะทำให้เรามีโอกาสนำมันกลับมาเสนอแก่เด็กรุ่นใหม่ๆ เช่นเดียวกับผู้ที่เคยชมฉบับแรกไปแล้วเมื่อ 10 ปีก่อนก็สามารถร่วมดูอีกครั้งกับลูกๆได้ ในหนังฉบับพิเศษนี้จะทั้งใหญ่ขึ้น ดีขึ้น และเพิ่มฉากใหม่ซึ่งเดิมวางไว้ให้กับฉบับฉายปี 1991 ด้วย การได้ดูหนังที่เปี่ยมด้วยมนตร์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลายเรื่องนี้บนจอใหญ่จึงเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ทั้งตื่นเต้น สนุกสนาน และยิ่งใหญ่จริงๆ"
"Beauty and the Beast นับเป็นหนังปกติเรื่องแรกที่จะได้ฉายขึ้นจอใหญ่" คุ้กกล่าวเพิ่มเติม "โดยแทนที่เราจะแค่นำเวอร์ชั่น 35 มม.มาขยายสำหรับฉายจอยักษ์เฉยๆ ทีมของเรากลับเลือกที่จะไปนำวัตถุดิบต้นฉบับในระบบดิจิตอลมาใช้และทุ่มเทเวลากว่าหนึ่งปีในการปรับรูปแบบของมันใหม่ทีละเฟรม เพิ่มเติมรายละเอียดกับเอฟเฟ็กต์และซ่อมแซมจุดผิดพลาดทั้งหลายที่ไม่เคยมีใครสังเกตเห็นมาก่อน การได้ดูหนังในวาระเฉลิมฉลองสุดพิเศษนี้จึงเท่ากับเป็นการดูครั้งแรก เพราะคุณจะได้เห็นรายละเอียดที่ไม่เคยเห็น สีสันต่างๆสดอิ่มยิ่งขึ้น เคิร์คกับแกรี่ใส่ใจในทุกๆฉากเพื่อให้แน่ใจได้ว่าทุกสิ่งสมบูรณ์แบบจริง หนังฉบับจอยักษ์จะโอบล้อมคุณไว้จนคุณรู้สึกราวกับตนเองเป็นส่วนหนึ่งในหนังด้วย ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องก็จะทำให้คุณนึกทันทีว่าหนังเรื่องนี้คงเป็น 3 มิติเพราะตัวคุณเหมือนกำลังเคลื่อนที่ผ่านผืนป่าและเดินเข้าสู่หมู่บ้านไปพร้อมๆกับเบลล์ คนดูจะกลายเป็นผู้สังเกตการณ์สิ่งซึ่งเกิดขึ้นรอบๆตัวซึ่งนั่นเป็นประสบการณ์ที่คุณไม่มีวันได้รับจากการฉายในรูปแบบอื่นแน่นอน"
ผู้อำนวยการสร้าง ดอน ฮาห์น เพิ่มเติมด้วยว่า "หนังเรื่องนี้ทำขึ้นสำหรับฉายบนจอใหญ่ เพราะเมื่อคุณอยากเห็นปราสาทของเจ้าชายอสูรและห้องเต้นรำที่เบลล์ใส่ชุดเต้นรำงดงามยืนอยู่จากความสูง 6 ชั้นล่ะก็ คงไม่มีวิธีอื่นใดอีกจะดีไปกว่าการฉายบนจอยักษ์อย่างนี้ ซึ่งจะไม่เพียงทำให้คุณเข้าไปเห็นตัวละครอย่างชัดเจนเท่านั้น หากยังทำให้คุณรู้สึกประหนึ่งไม่ได้กำลังดู แต่กำลังอยู่ในหนังเองเลยทีเดียว"
เรื่องราวของ Beauty and the Beast เป็นหนึ่งในการผจญภัยสุดโรแมนติคที่โด่งดังที่สุดและยืนยงที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา กับยังเป็นวัตถุดิบชั้นดีแก่ผลงานแอนิเมชั่นขนาดยาวลำดับที่ 30 ของ วอลท์ ดิสนีย์ อีกด้วย เทพนิยายคลาสสิคว่าด้วยสาวน้อยแสนสวยผู้เผชิญหน้ากับอสูรเปี่ยมเสน่ห์เรื่องนี้ครองใจทั้งนักเล่าเรื่อง คนทำหนังและผู้ชมอย่างเหนียวแน่น จินตนาการและฝีมือด้านศิลปะของทีมสร้างสรรค์แห่งดิสนีย์, ดนตรีประกอบน่าประทับใจจากสองนักแต่งเพลงเจ้าของรางวัลออสการ์ และการทุ่มเทของทีมนักพากย์ส่งผลให้แฟนตาซีปรัมปราเรื่องนี้ก้าวสู่มิติใหม่อันน่าตื่นเต้นซึ่งจะกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ก็ด้วยความมหัศจรรย์ของศิลปะแอนิเมชั่นเท่านั้น
เรื่องราวใน Beauty and the Beast เกิดขึ้นณ หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ว่าด้วยการผจญภัยเร้าใจของ เบลล์ หญิงสาวงดงามชาญฉลาดผู้เลือกการอ่านหนังสือเป็นหนทางหนีจากวิถีชีวิตอันแสนธรรมดาสามัญของตนและจากชายรูปงามแต่ป่าเถื่อนนามแกสต็องที่เพียรตื๊อเธอไม่เลิกรา วันหนึ่งพ่อผู้เป็นนักประดิษฐ์ของเธอพลัดหลงเข้าไปในปราสาทของอสูรและถูกจับขังไว้ เบลล์จึงเดินทางไปช่วยพ่อโดยสัญญาแลกเปลี่ยนให้ตัวเธอถูกคุมขังแทน ในไม่ช้าด้วยความช่วยเหลือของเหล่าเครื่องใช้ต้องมนตร์ในปราสาทอย่าง กาน้ำชา, เชิงเทียน, นาฬิกาเหนือเตาผิง และเพื่อนๆ ก็ทำให้เบลล์เริ่มค้นพบหัวใจและวิญญาณของเจ้าชายมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้รูปโฉมของอสูร โดยในช่วงเวลาเดียวกัน แกสต็องผู้โกรธเกรี้ยวที่ถูกปฏิเสธและถูกครอบงำด้วยความริษยาก็เปิดเผยหัวใจดำมืดไม่ผิดจากอสูรของตนออกมาด้วยการนำทีมชาวบ้านออกเดินทางไปยังปราสาทซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าครั้งสำคัญที่สุด
Beauty and the Beast เป็นเทพนิยายคลาสสิคเรื่องที่ 5 เท่านั้นที่ดิสนีย์เลือกนำมาดัดแปลงเป็นหนัง โดยขนบนี้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 1937 กับ Snow White and the Seven Dwarfs ซึ่งสร้างจากนิทานดังของพี่น้องกริมม์ ต่อมาในทศวรรษ 1950 วอลท์ ดิสนีย์กับทีมแอนิเมเตอร์ก็ประสบความสำเร็จอีกครั้งกับการดัดแปลงนิทานคลาสสิค 2 เรื่องของนักเขียนฝรั่งเศสนาม ชาร์ลส์ แปร์โรลต์ คือ Cinderella (1950) กับ Sleeping Beauty (1959) และอีกหนึ่งเทพนิยายดังของ ฮานส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน ก็กลายมาเป็นวัตถุดิบของ The Little Mermaid ฉบับดิสนีย์ซึ่งออกฉายในปี 1989
การดัดแปลง Beauty and the Beast ให้เป็นหนังแอนิเมชั่นนั้น เป็นภารกิจท้าทายที่ใช้เวลากว่า 3 1/2 ปี และต้องใช้แอนิเมเตอร์, ศิลปินและช่างเทคนิคถึงเกือบ 600 คน โดยยังไม่นับภาพดรออิ้งอีกกว่าหนึ่งล้านและแผ่นเซลที่ใช้ในการวาดถึง 226,000 แผ่น ผู้นำทีมครั้งนั้นคือ ดอน ฮาห์น มือเก๋าที่ร่วมงานกับดิสนีย์มานานถึง 25 ปีและสองผู้กำกับรุ่นหนุ่มแต่มากความสามารถอย่าง แกรี่ ทรูส เดล กับ เคิร์ค ไวส์ ซึ่งมากำกับหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก โดยทั้งสามกลับมาร่วมทีมกันอีกครั้งใน The Hunchback of Notre Dame (1996) และ Atlantis: The Lost Empire (2001) นอกจากนั้นยังมีแอนิเมเตอร์อีก 10 คนที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเฉพาะในส่วนตัวละครและสร้างชีวิตให้กับมันโดยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มแคแร็คเตอร์แอนิเมเตอร์และทีมเกลาภาพร่าง (clean-up artists) โดยมีแอนิเมเตอร์ประจำดิสนีย์-เอ็มจีเอ็มสตูดิโอส์ในเลคบัวนาวิสต้าให้ความช่วยเหลือผ่านดาวเทียมอีกแรงหนึ่ง
ลินดา วูลเวอร์ตัน นำธีมอมตะและองค์ประกอบพื้นฐานทั้งหลายของเทพนิยายมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการเขียนบทที่แปลกใหม่ทันสมัย ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบทั้งด้านโครงสร้างและอารมณ์ให้แก่การพัฒนาด้านภาพและการทำสตอรี่บอร์ด ขณะที่ โฮเวิร์ด แอชแมน ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารและนักแต่งคำร้องให้กับเพลงในหนังก็เข้ามามีส่วนช่วยในขั้นตอนพัฒนาและวางโครงสร้างของเรื่องตั้งแต่แรกด้วย เช่นเดียวกับ โรเจอร์ แอลเลอร์ส ซึ่งรับหน้าที่ดูแลด้านเรื่องราว และ ไบรอัน แม็คเอนที กับ เอ๊ด เกิร์ตเนอร์ รับผิดชอบด้านกำกับศิลป์และการวางเลย์เอาต์ (ตามลำดับ) ลิซ่า คีนดูแลทีมศิลปิน 14 ชีวิตที่ร่วมกันเขียนแบ๊คกราวด์ 1,300 ชิ้น ซาร่าห์ แม็คอาร์เธอร์รับหน้าที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้าง และ จอห์น คาร์โนแคน (The Little Mermaid) ดูแลด้านการลำดับภาพ
หน้าที่ในการดูแลงานสร้างฉากเพลงใหม่ "Human Again" ให้กับหนังฉบับฉายจอยักษ์เป็นของ เอ๊ด เกิร์ตเนอร์ ผู้กำกับศิลป์ และ เดฟ บอสเสิร์ต ผู้ประสานงานฝ่ายศิลป์ ขณะที่ทีมผู้ควบคุมงานศิลป์ในส่วนดังกล่าวคือ จอห์น แซนฟอร์ด (ด้านเรื่องราว), มิตเชลล์ เบอร์นอล (เลย์เอาต์), อเล็กซ์ โทพีต (Clean-up), ดีน กอร์ดอน (แบ๊คกราวด์) และ สตีฟ มัวร์ (เทคนิคพิเศษ) มาร์แชลล์ ทูมี่ย์ ควบคุมด้านเลย์เอาต์สำหรับฉบับจอใหญ่, ลิซ่า คีน ดูแลด้านแบ๊คกราวด์ และ ทอม เบคเกอร์ ด้านวางฉาก โดยมี เอลเลน เคเนเชีย เป็นผู้ลำดับภาพของฉบับพิเศษนี้
บทเพลงโดดเด่นรวม 7 เพลงที่ถักทอเข้าในหนังเป็นผลงานของทีมเจ้าของออสการ์ โฮเวิร์ด แอชแมน และ อลัน เมนเคน ซึ่งเคยฝากฝีมือไว้ในแอนิเมชั่นทำรายได้ถล่มทลายของดิสนีย์ประจำปี 1989 เรื่อง The Little Mermaid กับแอนิเมชั่นตลกยอดฮิตปี 1992 เรื่อง Aladdin มาแล้ว และในครั้งนี้เนื้อเพลงลุ่มลึกของแอชแมนถูกหลอมรวมเข้ากับเมโลดี้สุดประทับใจของเมนเคนจนกลายเป็นบทเพลงที่ไม่เพียงสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของหนังที่ช่วยสร้างความคืบหน้าให้แก่เรื่องราวและพัฒนาการของตัวละครด้วย โดยเจ้าของ 8 รางวัลออสการ์อย่างเมนเคนยังกลับมาดูแลดนตรีประกอบให้แก่ผลงานล่าสุดฉบับจอใหญ่ครั้งนี้ ขณะที่แม้การจากไปก่อนเวลาอันควรของ โฮเวิร์ด แอชแมน ในเดือนมีนาคม 1991 (หรือเพียง 8 เดือนก่อน Beauty ออกฉาย) นับเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของยุคสมัยเรา แต่อัจฉริยภาพของเขาก็ยังคงโลดแล่นอยู่ทั้งในหนังของดิสนีย์และบนละครเวทีหลายต่อหลายเรื่อง
การสร้างชีวิตให้แก่ตัวละครด้วยเสียงพากย์ทั้งในบทพูดและบทเพลงเป็นหน้าที่ของกลุ่มนักแสดงมากพรสวรรค์ โดย เพจ โอฮาร่า นักร้องและนักแสดงละครเวทีเป็นผู้ได้รับเลือกให้มารับบท เบลล์ ท่ามกลางคู่แข่งมีฝีมือจากบรอดเวย์อีกนับร้อย ความสามารถในฐานะนักแสดงของเธอและทักษะอันยอดเยี่ยมด้านการร้องเพลงทำให้เธอเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบทนางเอกผู้รักอิสระ รักการผจญภัยและมีหัวใจโรแมนติค เช่นเดียวกับ ร็อบบี้ เบนสัน ซึ่งใช้ความสามารถด้านการแสดงหลากหลายมาคว้าบทอสูรไปได้สำเร็จ เขาสามารถสร้างทั้งอารมณ์ขันและความเป็นมนุษย์ให้แก่ตัวละครรูปโฉมน่าสะพรึงกลัวตัวนี้ ผู้จำต้องเรียนรู้การมอบความรักและได้รับความรักตอบแทนเพื่อจะเอาชนะคำสาปให้ได้
ริชาร์ด ไวท์ นักแสดงละครเวทีเป็นเจ้าของเสียงห้าวหาญของแกสต็อง ตัวละครรูปงามแต่ยะโสจนน่าขบขันผู้มุ่งหวังจะได้แต่งงานกับเบลล์ ครั้นอะไรๆไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เขาก็เปิดเผยหัวใจดำมืดราวอสูรที่ซ่อนอยู่ใต้รูปลักษณ์หล่อเหลาของตนให้เห็น ขณะที่ เลอฟู คู่ซี้สุดซื่อสัตย์ผู้อยู่เคียงข้างแกสต็องทั้งในยามดีและยามร้ายนั้น กลับกลายมีชีวิตขึ้นมาได้อย่างหรรษาด้วยเสียงพากย์ของนักแสดง เจสซี่ คอร์ติ ส่วน เร็กซ์ เอฟเวอร์ฮาร์ต นักแสดงละครเวทีฝีมือดีผู้ล่วงลับไปแล้ว มาให้เสียง มอริซ พ่อนักประดิษฐ์ของเบลล์ซึ่งให้กำเนิดสิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคเสมอ
ในส่วนของเสียงพากย์คนรับใช้ผู้น่ารักทั้งหลายในปราสาทที่ต้องเปลี่ยนร่างพร้อมๆกับที่เจ้าชายถูกสาปให้กลายเป็นอสูรนั้น ล้วนเป็นของนักแสดงชั้นนำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น แอนเจล่า แลนส์บูรี่ นักแสดงหนังและดาราโทรทัศน์มือดีเจ้าของ 4 รางวัลโทนี่ มาให้เสียงกาน้ำชาจอมทะเล้นชื่อมิสซิสพ็อตต์ส ผู้ชอบพร่ำให้คำแนะนำแก่ ชิป ลูกชายของเธอ (ให้เสียงโดย แบร๊ดลี่ย์ เพียร์ซ) กับเบลล์, เจอร์รี่ ออร์บาช นักแสดงมือเก๋าจากทั้งแวดวงละครเวที, หนังและโทรทัศน์ โดดเด่นมากจากการให้เสียงเชิงเทียนเลือดร้อนชื่อลูมีแอร์ อดีตหัวหน้าคนรับใช้ผู้ใช้เสน่ห์และบุคลิกส่วนตัวแปรเปลี่ยนอาหารมื้อธรรมดาๆให้กลายเป็นวาระพิเศษได้เสมอ, เดวิด อ๊อกเดน สเตียร์ส เยี่ยมยอดกับการให้เสียง ค็อกส์เวิร์ธ นาฬิกาเหนือเตาผู้พยายามอย่างยิ่งในการรักษาความเที่ยงตรงของตัวเอง และนักแสดงตลกหญิง โจ แอนน์ วอร์ลี่ย์ มาให้เสียงตู้เสื้อผ้าประหลาดในปราสาทแห่งนี้
เรื่องราวของ Beauty and the Beast นั้น เป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ที่มีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปหลากหลายบนแก่นหลักซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งตำนานปรัมปราของกรีก ย้อนกลับไปในปี 1550 จีโอวาน สตราปาราโล นักเขียนชาวอิตาเลียนเป็นผู้เขียนเรื่องนี้ขึ้นดังที่รู้จักกันทั่วไป และเรื่องดังกล่าวก็ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 จากหนังสือของ มาดาม เลอ ปรินซ์ เดอ โบมองต์ กับ มาดาม กาบรีแอลล์ ดี วีลเนิฟ สองนักเขียนชาวฝรั่งเศส จนกระทั่งปี 1946 ฌ็อง ค็อคโต ผู้กำกับชื่อดังของฝรั่งเศสก็นำเรื่องนี้มาเสกสรรค์เป็นภาพยนตร์ (เรื่อง La Belle et la Bete) ตามด้วยฉบับทำออกฉายทางโทรทัศน์ในปี 1987 ซึ่งตีความใหม่โดยเปลี่ยนฉากหลังเป็นนิวยอร์คยุคร่วมสมัย
"การทำ Beauty and the Beast เวอร์ชั่นของเราเองนั้นถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเรื่องราวนี้" ผู้อำนวยการสร้าง ดอน ฮาห์น กล่าว "ส่วนหนึ่งของความสนุกอยู่ที่การที่คนแต่ละรุ่นและแต่ละวัฒนธรรมดัดแปลงมันให้เป็นของตนเอง ธีมซึ่งพูดว่าเราไม่พึงตัดสินหนังสือเพียงจากหน้าปกและความงามที่แท้ย่อมซ่อนอยู่ใต้เปลือกนอกนั้นเป็นธีมที่ยังคงใช้ได้เสมอจนถึงทุกวันนี้"
ลินดา วูลเวอร์ตัน ผู้เขียนบท ก็เห็นด้วย "ข้อคิดจากเรื่องราวนี้ไม่มีวันเชย มันบอกให้คนดูจงมองข้ามผิวนอก มองข้ามความคิดแบบวัตถุนิยมไปซะ เพราะสิ่งที่อยู่ในหัวใจและวิญญาณต่างหากที่สำคัญกว่า"
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ