กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างความโปร่งใสให้กับระบบสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เป็นสถาบันหลักในการช่วยขับเคลื่อนประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาภาคการเกษตร และให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ทั้งในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต การพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าการเกษตรให้ได้มาตรฐาน การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และการจัดหาช่องทางการตลาดเข้ามารองรับ ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาระบบสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ความโปร่งใส และสร้างธรรมาภิบาลแก่สหกรณ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีสหกรณ์ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ ซึ่งมีการขยายตัวและดำเนินธุรกิจหลายรูปแบบ บางแห่งมีความเสี่ยงสูงในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่ท้ายสุดอาจเป็นการเปิดโอกาสให้การแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มบุคคล จนกระทั่งดำเนินงานนอกกรอบวัตถุประสงค์และหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์และหลักการของสหกรณ์ จึงจำเป็นจะต้องมีระบบการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ ที่ได้มาตรฐานสากล
นายสมปอง อินทร์ทอง อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีบทบาทสำคัญในการเป็นองค์กรที่พัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีของสหกรณ์และสถาบันเกษตรกรของประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใส และพึ่งพาตนเองได้ โดยการเข้าไปสร้างระบบบัญชีให้ได้มาตรฐาน ให้ความรู้และสนับสนุนสหกรณ์ ในการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง รวมทั้งเข้าไปตรวจสอบบัญชี เพื่อสร้างความโปร่งใสให้แก่สหกรณ์ โดยมี "ผู้สอบบัญชี" ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กำกับดูแล ทำหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์ โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ซึ่งบัญญัติให้ผู้สอบบัญชีปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบบัญชี และระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด โดยนายทะเบียนสหกรณ์มอบอำนาจให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนดมาตรฐานการสอบบัญชีสหกรณ์ ทั้งนี้ ได้จัดกลุ่มผู้สอบบัญชี ตามความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดและความซับซ้อนของการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ โดยผู้สอบบัญชีจะเข้าไปประเมินความเสี่ยง การควบคุมภายในของสหกรณ์ และการปฏิบัติงานของสหกรณ์ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือไม่
นอกจากนั้น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีการเฝ้าระวังหรือป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับสหกรณ์โดยได้จัดระดับสหกรณ์ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อให้บริการสอบบัญชีและแก้ไขปัญหาให้ตรงประเด็น ดังนี้
1. กลุ่มดี สามารถตรวจสอบบัญชีได้ตามปกติ
2. กลุ่มพอใช้ เป็นกลุ่มที่อาจมีความบกพร่องในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีการจัดตั้งทีมตรวจสอบพิเศษระดับจังหวัด เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ และสอนแนะที่เหมาะสม
3. กลุ่มต้องแก้ไข เป็นสหกรณ์ที่มีข้อบกพร่องต้องให้คำปรึกษา แนะนำหรือสอนแนะเร่งด่วน โดยมีการจัดตั้งทีมตรวจสอบพิเศษระดับภาค เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ สอนแนะ และติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
4. กลุ่มอาจถูกสั่งยกเลิก/ต้องเลิกตามกฎหมาย หากพบว่าการดำเนินธุรกิจไม่เกิดผลดีกับสหกรณ์ หรือหยุดดำเนินธุรกิจ จะเสนอให้นายทะเบียนสหกรณ์สั่งเลิกและชำระบัญชี
5. กลุ่มตั้งใหม่ ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะเข้าไปช่วยเหลือในการวางระบบบัญชีและระบบการควบคุมภายในที่ดี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสหกรณ์และสมาชิก
ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนผู้สอบบัญชี เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้สอบบัญชี ให้สามารถปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 นี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้ดำเนินการในการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังทางการเงินการบัญชี (offsite) เพื่อติดตาม/ประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจ/เตือนภัยและกำหนดแนวทางป้องกัน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเยี่ยมสำนักงานสอบบัญชีสหกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส และความเข้มแข็งในสหกรณ์