กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในฐานะประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Work shop)ไทยโทนเชียงราย ณ ขัวศิลปะ จ. เชียงราย เมื่อเร็วๆนี้ ว่า วธ. ร่วมกับขัวศิลปะ จัดกิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Work shop) ไทยโทนเชียงรายขึ้น ภายใต้โครงการไทยโทนเชียงราย โดยเชิญ อ.ไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์พิเศษ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสีไทย มาให้ความรู้กับศิลปินเชียงราย กว่า 60 คน ในเรื่องสีโทนไทยและสีจากนานาชาติ การปรุงสีไทยโทน การจับคู่สีไทยโทน และการทดลองปฏิบัติสร้างสรรค์ผลงานจากสีไทยโทน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถคิดค้นและสร้างสีไทยโทนที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของเชียงราย ตลอดจนนำสีไทยโทนมาใช้ในการพัฒนา ออกแบบ และสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างเอกลักษณ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ผลงานของศิลปินที่ได้จากการสัมมนา จะนำมาจัดนิทรรศการไทยโทนเชียงราย ในระหว่างวันที่ 31 ธ.ค. 2558 – 29 ก.พ. 2559 ณ ขัวศิลปะ จ. เชียงราย
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเมืองหน้าด่านติดกับชายแดน ซึ่งเชียงรายก็เป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเรื่องการพัฒนาในหลายด้าน ที่สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่พิเศษทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน วธ. ก็จะผลักดันให้เป็นพื้นที่พิเศษทางวัฒนธรรม โดยการขับเคลื่อนโครงการสีไทยโทน เพื่อให้ศิลปินได้มีโอกาสใช้สีไทยที่มีรากเหง้ามานาน ปรุงด้วยวัสดุจากธรรมชาติ และมีการการวิจัยใช้อุปกรณ์ระบบดิจิตอล ทำให้เกิด 'เทรนด์ไทยโทน' ในรูปเฉดสีไทยมากกว่า 200 สี มาสร้างสรรค์ผลงานเชิงวิจิตรศิลป์ที่เป็นเสน่ห์ของเครือข่ายศิลปินในเชียงราย และขยายผลให้เป็นผลงานเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ได้ในรูปแบบนวัตกรรมของที่ระลึกสำหรับการท่องเที่ยว หรือ "ฝากไทย" ซึ่ง วธ. อยากให้การดำเนินงานด้าน"สีไทยโทน" และ "ฝากไทย" คู่ขนานกันออกไป เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการนำ "เสน่ห์ไทย" จากทุนวัฒนธรรมมาเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม และส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเปิดนิทรรศการสีไทยโทน วธ.จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น มาศึกษาผลงานของศิลปินเพื่อร่วมผลักดันการดำเนินงานต่อไป รวมทั้งจะทำเป็นโมเดลต้นแบบนำไปขยายผลและพัฒนาสู่ภูมิภาคต่างๆด้วย