กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--ตลท.
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2544 มีบริษัทจดทะเบียนนำส่งงบการเงินงวด 3 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2544 มาแล้ว จำนวน 367 บริษัทหรือร้อยละ 96 จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 381 บริษัท ปรากฎว่ามีบริษัทที่มีผลกำไรสุทธิถึง 253 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ในขณะที่มีบริษัทที่มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 114 บริษัทหรือคิดเป็นร้อยละ 31 จากข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว
"ผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดดีขึ้นร้อยละ 149 โดยมีกำไรสุทธิ 13,862 ล้านบาทในปี 2544 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2543 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 28,140 ล้านบาท และหากไม่รวมบริษัทที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงานหรือกลุ่ม REHABCO แล้ว ผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้นถึงร้อยละ 239 หรือ มีกำไรสุทธิ 24,337 ล้านบาทในปี 2544 เปรียบเทียบกับผลขาดทุนสุทธิ 17,558 ล้านบาทในปี 2543" นายวิชรัตน์กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ จำนวน 286 บริษัทมีกำไรในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนคือในปี 2544 นี้มีกำไรสุทธิ 20,791 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2543 มีกำไรสุทธิ 21,637 โดยเป็นตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ 4 ทั้งนี้ ผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาททำให้บริษัทจดทะเบียนมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 7,233 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,811 ล้านบาท ดังนั้น หากไม่รวมผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว บริษัทจะมีกำไรก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 28,024 ล้านบาท ดีขึ้นร้อยละ 41.35 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2543 ที่มีผลกำไรก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 19,826 ล้านบาท
ทางด้านยอดขายโดยรวมของบริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จาก 307,032 ล้านบาทในปี 2543 เป็น 359,892 ล้านบาทในปีนี้ ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 22 โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเท่ากับร้อยละ 0.90 และผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับร้อยละ 2.97 ซึ่งใกล้เคียงกันกับปีก่อนเช่นเดียวกัน
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิมีทั้งสิ้น 23 หมวดหรือคิดเป็นร้อยละ 82 มีผลกำไรสุทธิ จำนวน 23,187 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 23,622 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มพลังงาน กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มวัสดุก่อสร้างและเครื่องตกแต่ง กลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ และกลุ่มสื่อสาร มีผลกำไรสุทธิ จำนวน 14,633 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63 ของกำไรสุทธิของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไร
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลขาดทุนมีจำนวน 5 กลุ่มหรือคิดเป็นร้อยละ 18 มีผลขาดทุนสุทธิ 2,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่มีผลขาดทุน 1,985 ล้านบาท หรือร้อยละ 21 ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 1,830 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลขาดทุนสุทธิได้แก่ กลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มการแพทย์ กลุ่มบันเทิงและสันทนาการ และกลุ่มเครื่องมือและเครื่องจักร นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการกล่าวว่า "ทางด้านผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น ธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีผลการดำเนินงานดีขึ้นมาก โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 1,866 ล้านบาท เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมาที่ประสบผลขาดทุน 38,751 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 105 ทั้งนี้เนื่องมาจากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับสุทธิก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ซึ่งเป็นผลมาจากธนาคารมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และการตั้งสำรองหนี้และหนี้สงสัยจะสูญลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 86 เป็นผลจากการที่ธนาคารได้ตั้งสำรองตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยครบถ้วนแล้วเมื่อสิ้นปี 2543 สำหรับธนาคารที่ประสบกับภาวะขาดทุนสุทธิในปี 2544 ส่วนใหญ่เป็นธนาคารขนาดเล็กหรือเป็นธนาคารที่ถูกทางการแทรกแซง"
"ผลการดำเนินงานของธุรกิจหลักทรัพย์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ โดยสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์จำนวน 20 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มี 18 บริษัทที่มีผลกำไรสุทธิ โดยมีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่ประสบกับภาวะขาดทุน โดยในปี 2544 นี้มีกำไรสุทธิจำนวน 1,680 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2543 ประสบกับภาวะขาดทุน 445 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่สถาบันการเงินไม่ต้องมีภาระการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ รวมทั้งการมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับสุทธิก่อนตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ตลอดจนมีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น" นายวิชรัตน์กล่าว.
สำหรับความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจดทะเบียน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2544 ปรากฏว่ามีบริษัทจดทะเบียนรายงานความคืบหน้ามาทั้งสิ้น 145 บริษัท หนี้ที่มีการปรับโครงสร้างเรียบร้อยแล้วมีจำนวน 822,872 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67 ของมูลหนี้ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 ที่มีหนี้ที่ปรับโครงสร้างได้ 719,785 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสารนิเทศ
ลดาวัลย์ ไทยธัญญพานิช โทร.229-2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร.229-2037
จิวัสสา ติปยานนท์ โทร.229-2039 (ยังมีต่อ)
-อน-