กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เผย 5 ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งจากการประเมินคุณภาพสถานศึกษาภายนอกตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา สมศ.ได้พบ 5 ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสถานศึกษาขนาดเล็ก ดังนี้ 1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำ 2) ขาดแคลนงบประมาณ 3) ปัญหาครูไม่เพียงพอ 4) ขาดการบริหารข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพ และ 5)สถานศึกษาไม่ได้นำผลการประเมินคุณภาพภายนอกมาพัฒนา พร้อมถอดบทเรียนตัวอย่างความสำเร็จจากโรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานศึกษาขนาดเล็กที่ประสบปัญหาการขาดแคลนครู จึงแก้ปัญหาโดยจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ตามคำแนะนำของ สมศ.เพื่อเพิ่มช่องทางในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ครูไปอบรมด้านการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดในการจัดการเรียนการสอนให้สัมฤทธิ์ผล พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาครูและบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จากการปรับปรุงสถานศึกษา ส่งผลในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 ที่ผ่านมา (พ.ศ.2554-พ.ศ.2558) โรงเรียนวัดงิ้วเฒ่าได้รับการประเมินอยู่ในระดับดี โดยในการประเมินรอบสี่ ตั้งเป้าหมายการประเมินไว้ว่าจะอยู่ในระดับดีมาก
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า จากข้อมูลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศกว่า 33,736 แห่ง มีสถานศึกษาขนาดเล็ก จำนวน 24,805 แห่ง ซึ่งบริบทของสถานศึกษาขนาดเล็กส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่นอกเขตเมือง หรือในพื้นที่ห่างไกล นักเรียนส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน นอกจากนี้ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีค่านิยมส่งบุตรหลานไปศึกษาในอำเภอเมืองหรือตัวจังหวัดหรือโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่า ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเท่าที่ควร โดยจากการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา พบ 5 ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสถานศึกษาขนาดเล็ก ดังนี้
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำ โดยจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. พบว่า นักเรียนในสถานศึกษาขนาดเล็กยังมีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องควรจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มศักยภาพ โดยเสริมทักษะในการแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และสามารถนำวิธีการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ ขณะเดียวกันครูก็ต้องพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้สื่อการเรียนการสอน ทั้งที่ เป็นสื่อเทคโนโลยี สื่อพื้นฐาน และสอนให้นักเรียนเรียนรู้การใช้สื่อดังกล่าวด้วย ตามลำดับความสามารถที่แตกต่างกันของผู้เรียนเอง
2. ขาดแคลนงบประมาณ เนื่องจากสถานศึกษาขนาดเล็กได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในจำนวนจำกัด จึงส่งผลต่อจำนวนบุคลากร ครุภัณฑ์และสื่อการเรียนการสอนต่างๆ รวมไปถึงการก่อสร้างอาคารสถานที่ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน แต่อย่างไรก็ตาม งบประมาณ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนเสมอไป ถ้าบุคลากรในสถานศึกษานั้นๆ มีประสิทธิภาพ และเรียนรู้ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. จำนวนบุคลากรครูมีไม่เพียงพอ จากปัญหาครูไม่ครบชั้นเรียน สถานศึกษาจึงจัดการเรียนรวมระหว่างชั้นเรียน ทำให้นักเรียนไม่ได้รับความรู้ที่เหมาะสมในแต่ละชั้นเรียน หรือในบางท้องที่ที่มีสถานศึกษาขาดแคลนครูหลายแห่งอยู่ใกล้ๆ กัน สามารถรวมชั้นเรียนระหว่างสถานศึกษาใกล้ๆ กัน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู แต่ระบบการบริหารจัดการควรจะแตกต่างไปจากการบริหารปกติ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้ครูอยากเป็นครูในโรงเรียนขนาดเล็ก หรือให้ทุนการศึกษาแก่คนที่รักการเป็นครู เพื่อกลับมาเป็นครูสอนในพื้นที่
4. ขาดระบบข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพ จากข้อมูลการประเมินสถานศึกษาของ สมศ. พบว่าอัตราการเข้าถึงสื่อสารสนเทศของสถานศึกษาขนาดเล็กยังอยู่ในระดับต่ำ ระบบสารสนเทศของโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ฐานข้อมูล ระบบเครือข่าย ฯลฯ ส่วนใหญ่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทำให้การจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ของสถานศึกษา ทั้งงบประมาณ หลักสูตรการเรียนการสอน ข้อมูลบุคลากรและนักเรียน ฯลฯ ไม่ได้รับการจัดเก็บที่ถูกต้อง และไม่สามารถใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. สถานศึกษาขาดการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกมาใช้ปรับปรุงพัฒนา การประเมินของ สมศ. นั้นเป็นไปเพื่อการตรวจสอบยืนยันสภาพจริงในการดำเนินงานของสถานศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลซึ่งช่วยสะท้อนให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อนของสถานศึกษา และสาเหตุของปัญหา เพื่อนำมาเป็นแนวทางให้สถานศึกษาได้ใช้ในการปรับปรุง วางแผนพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาต่อไป ดังนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่สถานศึกษาควรให้ความสำคัญ ตระหนักถึงการนำผลการประเมินมาปรับใช้พัฒนาสถานศึกษา เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและจะสามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้จากการดำเนินงานของ สมศ. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นอกจากปัญหาดังกล่าว ยังมีปัญหาอีกจำนวนมากที่สถานศึกษาขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลได้ประสบ ซึ่งที่ผ่านมา สมศ. พบว่าสถานศึกษาหลายแห่งมีพัฒนาการ จากการประเมินรอบที่ 1 รอบที่ 2 และรอบที่ 3 อย่างต่อเนื่อง ผ่านการบูรณาการความร่วมมือตลอดจน วางแผนการดำเนินงานของสถานศึกษา พิจารณาบริบทและสถานการณ์ของโรงเรียน รวมถึงนำผลคำชี้แนะแนวทางการพัฒนาของ สมศ. มาใช้จนสามารถนำมาสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาและอุปสรรค ดังกล่าว ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายเด็ดดวง ชมศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า กล่าวว่า โรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า เป็นสถานศึกษาขยายโอกาส ในชุมชนที่นักเรียนเป็นคนพื้นเมือง ลีซอ และกะเหรี่ยง อยู่ร่วมกัน เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีครูจำนวน 12 คน มีนักเรียนจำนวน 105 คน ในการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกในรอบที่ 2 (พ.ศ.2549-พ.ศ.2553) ได้รับการประเมินในระดับพอใช้ใน 3 มาตรฐาน คือ มาตรฐานที่ 6 ผู้เรียนมีทักษะการแสวงหาความรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มาตรฐานที่ 4 ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ และการมีวิสัยทัศน์ มาตรฐานที่ 9 ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งจากการประเมินในครั้งนั้น โรงเรียนได้รับการแนะนำจากผู้ประเมินของ สมศ. ในการนำเอาจุดที่ควรพัฒนาของโรงเรียนมาปรับเป็นยุทธศาสตร์ของโรงเรียน เช่น ปัญหาการขาดแคลนครู เนื่องจากครูส่วนมากเป็นครูที่เพิ่งได้รับการบรรจุและย้ายมาสอนที่โรงเรียนชั่วคราว ก่อนที่จะย้ายไปประจำต่อที่โรงเรียนอื่น ส่งผลให้แผนการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นโรงเรียนจึงจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้ามาใช้ ตามคำแนะนำของ สมศ.เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ส่งผลให้ผู้เรียนได้มีทักษะในการแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย นอกจากนี้โรงเรียนยังมีนโยบายให้ครูประจำชั้นทำบันทึกการสอนประจำวันว่าวันนี้ครูสอนอะไร ให้การบ้านอะไรแก่เด็กนักเรียน และเตรียมการสอนอะไรในวันพรุ่งนี้ ตลอดจนแผนการสอนพิเศษเพิ่มเติม สำหรับ ชั้น ป.1 – ม.3 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นนโยบายของโรงเรียนที่ต้องการให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ครูไปอบรมด้านการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้มีประสิทธิภาพ และเกิดผลสัมฤทธิ์ทางด้านคุณภาพของผู้เรียน โดยส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้แบบเป็นกลุ่มและรายบุคคล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นอกจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว โรงเรียนยังได้สร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วยการให้ "สล่า" หรือช่างผู้ชำนาญการแกะสลักไม้สัก มาสอนวิชาแกะสลักไม้สัก ให้กับนักเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับนักเรียน รวมทั้งยังส่งเสริมให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนโดยสนับสนุนการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของล้านนาจากปราชญ์ชุมชนในหมู่บ้าน เช่นการขับซอ (การร้องเพลงขับลำนำของภาคเหนือ) กลองสะบัดชัย และการฟ้อนต่างๆ อันเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นของภาคเหนือ ด้วยเหตุนี้จากการพัฒนาสถานศึกษาทุกด้านทั้งหมดที่กล่าวมา ส่งผลภาพรวมในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 ที่ผ่านมา (พ.ศ.2554-พ.ศ.2558) โรงเรียนวัดงิ้วเฒ่าได้รับการประเมินอยู่ในระดับดี และผลการประเมินใน 3 มาตรฐานที่เคยอยู่ในระดับพอใช้ จากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง พัฒนาขึ้นมาอยู่ในระดับดี ทั้งนี้ ในการประเมินรอบสี่ โรงเรียนจะยังคงพัฒนาสถานศึกษาต่อไปเพื่อให้ผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก นายเด็ดดวง กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th