กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--กปร.
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เลขาธิการ กปร.เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรและชนบท ครั้งที่ ๔/๒๕๕๘ ณ ห้องประชุม ๒๐๑ ชั้น ๒ อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงาน กปร. แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
การประชุมในครั้งนี้ เพื่อรับทราบถึงความก้าวหน้าการขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในภาคการเกษตรและชนบท ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ และ ๒๕๕๙ สืบเนื่องจากมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในภาคการเกษตรและชนบท ครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๘ และ ครั้งที่ ๓/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘ ที่ประชุมได้อนุมัติหลักการให้มีการดำเนินโครงการ ได้แก่
๑. โครงการสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในภาคการเกษตรและชนบท ซึ่งปัจจุบันสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดโครงการฯ
๒. โครงการส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในภาคการเกษตรและชนบทซึ่งเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๘ คณะอนุกรรมการอนุมัติโครงการและงบประมาณโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้อนุมัติโครงการและงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ตามยุทธศาสตร์ที่ ๑ จำนวน ๑ โครงการ คือ โครงการส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในภาคการเกษตรและชนบท โดยกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ประกอบด้วย ๒ กิจกรรม ดังนี้
๑) กิจกรรมการประชุมชี้แจงคณะทำงานระดับพื้นที่ในภูมิภาค
๒) กิจกรรมการให้การ ศึกษาชุมชนจัดเวทีประชาคมทำแผนชุมชน
ทั้งนี้ ที่ประชุม ฯ ยังได้รับทราบการจัดทำ "คู่มือการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรและชนบท และด้านความมั่นคง" จำนวน ๘๐,๐๐๐ เล่ม แล้วเสร็จ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดพิมพ์จากสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ โดยได้ดำเนินการแจกจ่ายคู่มือฯ ทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่เป้าหมายทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ใน ๗๖จังหวัด รวมยอดแจกจ่ายในพื้นที่จำนวน ๗๕,๑๙๐ เล่ม รวมทั้ง ได้นำไฟล์คู่มือฯ ลงเว็บไซต์สำนักงาน กปร. สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อเพิ่มช่องทางและอำนวยความสะดวกในการดาวน์โหลดคู่มือฯ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการเพิ่มเติมพื้นที่เป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่ ๑ ส่งเสริมการขับเคลื่อนฯ
ในภาคการเกษตรและชนบท ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้จัดประชุมเพื่อเตรียมการดำเนินโครงการส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรและชนบท เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๘ ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ประชุมมีประเด็นข้อหารือในเรื่องของการต่อยอดขยายผลเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำขนาดเล็กในโครงการสำคัญ ได้แก่ ๑) โครงการพัฒนาแหล่งขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริของกระทรวงมหาดไทย ๒) โครงการชลประทานขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ๓) โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กของกรมชลประทานที่ถ่ายโอนภารกิจให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ ๔) โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วไปที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหาย ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ โดยมีโครงการที่อยู่ในเป้าหมายแรกภายใน ๖ เดือน ที่จะต้องดำเนินการซ่อมแซมและพัฒนา คือ โครงการตามข้อ ๑ และข้อ ๒ จำนวนรวม ๖๒๒ โครงการ สำหรับโครงการตามข้อ ๓-๔ ขอให้เป็นเป้าหมายดำเนินงานในระยะต่อไป ซึ่งหากที่ตั้งของโครงการตามข้อ ๑-๔ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่ ๑ (๒๔,๐๘๖ หมู่บ้าน) ขอให้จังหวัดสามารถเสนอยุทธศาสตร์ที่ ๑ ในการปรับเพิ่มเติมหมู่บ้านเป้าหมายได้ เนื่องจากการซ่อมแซมและพัฒนาแหล่งน้ำครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ในการประกอบอาชีพในสาขาต่างๆ ให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศ และหากราษฎรมีความพร้อมในการสละแรงงานก็สามารถดำเนินการได้ แม้จะไม่อยู่ในหมู่บ้านเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่ ๑ ก็ตาม ซึ่งจะเป็นการขยายผลการพัฒนาให้เป็นไปอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาให้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรและชนบท โดยถือเป็นวาระสำคัญของกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเรื่องดังกล่าว เป็นนโยบายรัฐบาล โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ และให้มีการตั้งศูนย์ประสานงานการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัด เพื่อทำหน้าที่เสมือนเป็นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริระดับจังหวัด โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัด/ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบหมาย คณะกรรมการระดับจังหวัด และ อำเภอ เพื่อให้เป็นทีมต้นแบบ (ครู ก.) โดยการชี้แจงผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference System) และกำหนดให้มีการศึกษาดูงานในพื้นที่ต้นแบบของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ทั้งในระดับผู้บริหารระดับจังหวัด เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด/รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย คณะกรรมการระดับจังหวัด และอำเภอ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของจังหวัดมาก และจุดชี้ขาดความสำเร็จของโครงการอยู่ที่ "คน" โดยกำหนดดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ เป็นต้นไป