กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 1,150 ล้านบาทของ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A+" พร้อมกันนี้ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ "A+" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ "A-" ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง "Stable" หรือ "คงที่" ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจและรองรับการขยายงานของบริษัท
อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส สะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ ตลอดจนความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต การผลิตที่มีประสิทธิภาพจากการมีระบบการผลิตที่ครบวงจร (Vertical Integration) และการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัวทั่วโลก ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหารรวมทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญของอุตสาหกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดจากลักษณะที่ผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนอุปทานส่วนเกินของกรดเทอเรฟธาลลิกบริสุทธิ์ (Purified Terephthalic Acid – PTA) ในเอเซียและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลต่ออัตรากำไรของบริษัท ในขณะที่แผนการลงทุนของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่ใช้เงินทุนจากการกู้ยืมได้ลดทอนฐานะการเงินของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงสมมติฐานของทริสเรทติ้งว่าอัตรากำไรของอุตสาหกรรมจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ บริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ รวมถึงรักษาสภาพคล่องที่เพียงพอเพื่อรองรับความผันผวนที่เกิดจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท ได้แก่ ภาวะขาลงของอุตสาหกรรมที่อาจยืดเยื้อและส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทต่ำกว่า 15% อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ได้แก่ การที่บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องและทำให้บริษัทสามารถดำรงอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ปรับปรุงแล้วอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 25% อย่างต่อเนื่อง
บริษัทก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 โดยกลุ่มตระกูลโลเฮีย (Lohia) ในฐานะเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนและได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ปัจจุบันกลุ่มตระกูลโลเฮียมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 66.4% บริษัทลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์เป็นหลัก โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 8.5 ล้านตันต่อปี โดยประมาณ 49% เป็นกำลังการผลิตของโพลีเอธิลีน เทอเรฟธาลเลท (Polyethylene Terephthalate – PET) 27% เป็น PTA 18% เป็นกำลังการผลิตเทียบเท่าเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และอีก 6% เป็นกำลังการผลิตเทียบเท่าโมโนเอธิลลีนไกลคอล (Monoethylene Glycol – MEG) ในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์นั้น PTA และ MEG ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์
ณ เดือนกันยายน 2558 บริษัทมีฐานการผลิตกระจายอยู่ใน 20 ประเทศ ครอบคลุม 4 ทวีป ได้แก่ เอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอาฟริกา โดยรูปแบบธุรกิจของบริษัทเป็นการผลิตแบบครบวงจร และมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ซึ่งรูปแบบธุรกิจนี้น่าจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรและความสามารถในการแข่งขันตลอดจนบรรเทาความเสี่ยงจากความผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการกีดกันทางการค้าได้
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทมีรายได้ 177,219 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง โดยไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยของบริษัทลดลงเป็นไปตามทิศทางของราคาน้ำมัน ดังนั้นบริษัทจึงมีการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกประมาณ 1,600 ล้านบาทในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ โรงงานผลิต MEG ได้หยุดซ่อมบำรุงตามแผนประมาณ 30 วันด้วย เมื่อรวมทั้ง 2 ปัจจัยแล้วส่งผลให้บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทลดลงจาก 8.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เป็น 7.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรดังกล่าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับอัตรากำไร 5.5% ในปี 2557 โดยส่วนหนึ่งสะท้อนอัตรากำไรของ PTA ที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นและการมีสัดส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Added --- HVA) ที่มากขึ้น ในส่วนของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อตันของการผลิตนั้นอยู่ที่ 87 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 โดยบริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงาน 12,676 ล้านบาทในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 15.4% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง)
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 บริษัทมีเงินกู้รวมซึ่งปรับปรุงด้วยหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน (เงินกู้รวมปรับปรุงแล้ว) จำนวน 92,435 ล้านบาทและมีอัตราส่วนเงินกู้รวมปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนที่ 54.4% อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะมีเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจากแผนการซื้อกิจการ โดยประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งได้พิจารณาถึงงบประมาณการซื้อกิจการและแผนการลงทุนของบริษัทรวมประมาณ 117,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้จ่ายในระหว่างปี 2558-2561 โดยบริษัทมีแผนจะขยายกำลังการผลิตของโรงงานเดิมรวมถึงปรับเพิ่มกำลังการผลิต HVA ของบริษัท ในส่วนงบประมาณการซื้อกิจการนั้นได้รวมถึงการซื้อกิจการมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาทที่เสร็จสิ้นไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 และการประกาศซื้อโรงแยกก๊าซอีเทน ขนาดกำลังผลิต 0.4 ล้านตันต่อปีในประเทศสหรัฐอเมริกา การซื้อโรงงาน PTA ขนาดกำลังการผลิตรวม 0.7 ล้านตันต่อปีในประเทศสเปน และการเข้าซื้อโรงงานผลิต PET ขนาดกำลังการผลิต 0.2 ล้านตันต่อปีในประเทศอินเดียด้วย โดยแผนลงทุนข้างต้นจะทำให้กำลังการผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 8.5 ล้านตันต่อปีเป็น 11.8 ล้านตันต่อปีในปี 2561 และกำลังการผลิตในส่วนของ HVA ก็จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 22% ของการผลิตรวมของบริษัทเป็น 24%-25% ในปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการเพื่อรักษาอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1 เท่าตามนโยบายของบริษัท จากสมมติฐานการเพิ่มสัดส่วนการผลิต HVA รวมถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรรม ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตรากำไร EBITDA ต่อตันของบริษัทจะเพิ่มมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2559 และเงินทุนจากการดำเนินงานจะปรับเพิ่มมากกว่า 20,000 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2559 เป็นผลจากอัตรากำไรและกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเงินทุนจากการดำเนินงานในระดับดังกล่าวเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ โดยบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดในปี 2559 จำนวน 10,000 ล้านบาทและในปี 2560-2561 จำนวน 13,000-14,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับปรุงแล้วอยู่ในช่วง 15%-23% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
IVL16OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 210 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
IVL16OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,690 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
IVL173A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
IVL174A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
IVL174B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
IVL186A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
IVL18OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 98 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
IVL18OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,302 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
IVL18DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 780 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
IVL193A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+
IVL194A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+
IVL206A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 520 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
IVL20DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 880 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
IVL21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 37 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
IVL21OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,163 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
IVL224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
IVL224B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,649.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
IVL22DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,645 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
IVL236A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
IVL243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
IVL24DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,475 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
IVL14PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 15,000 ล้านบาท A-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 1,150 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2568 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable